เส้นทางรถไฟบริษัทศรีมหาราชา

เส้นทางรถไฟบริษัทศรีมหาราชา

      การนำไม้ออกจากป่า  ไม่สามารถใช้วิธีล่องลงมาตามแม่น้ำเหมือนการทำไม้ทางภาคเหนือได้ เพราะไม้กระยาเลยเป็นไม้เนื้อแข็ง มีน้ำหนักมาก   ท่านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี จึงต้องทำทางรถไฟเข้าไปในป่า และใช้ช้างชักลากไม้แทน  เพื่อให้สามารถนำไม้ออกจากป่าได้ตลอดปี    ได้เริ่มมีการวางราง นำรถจักรไอน้ำมาใช้ขนส่งไม้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘  เริ่มต้นทางรถไฟสร้างแล้วเสร็จยาว ๕  ไมล์  (ประมาณ ๘กิโลเมตร)   มูลค่า ๑๒๕,๐๐๐ บาท   ซึ่งโครงการดังกล่าวก็ได้กลายเป็นโครงการรถไฟเล็กลากไม้สายตะวันออกสายแรกของประเทศไทย  ใช้รางกว้างเพียง ๐.๘  เมตร  จากนั้นได้ขยายเส้นทางรถไฟสำหรับขนไม้ในป่าสัมปทานเรื่อยมา    และในปี ๒๔๔๙  ได้สร้างทางรถไฟต่อไปถึงหุบบอน เพื่อขนไม้ตะเคียน  นำส่งโรงเลื่อย   รวมระยะทาง ตั้งแต่สถานีที่ศรีราชาข้างถนนสุขุมวิทไปทางทิศตะวันออก  ผ่านไร่กล้วย   หนองค้อ   หุบบอน   เขาคันทรง   ระเวิงไปถึงบึงตาต้า เขตอำเภอปลวกแดงจังหวัดระยองปัจจุบัน   รวมความยาวรางรถไฟทั้งหมดถึง   ๕๑.๗๗๕   กิโลเมตร

       ในปี  พ.ศ.๒๔๕๑ ได้ทำการสร้างสะพานรถไฟจากโรงเลื่อยศรีราชา ไปยังเกาะลอยเพื่อใช้ขนส่งไม้ลงเรือ สะพานนี้ยาว ๓๕๐๐ ฟุต  ถือเป็น สะพานรถไฟข้ามทะเลแห่งแรกของไทย   สะพานไม้นี้ใช้งานมานานหลายปี มีการซ่อมแซมหลายครั้ง จนกระทั่งครั้งสุดท้ายได้รับความเสียหายอย่างมากและพังทลายลงจากลมพายุในปี  พ.ศ.๒๔๙๕   การขนไม้จึงใช้แค่ตรงปลายสะพานที่เหลือเท่านั้น    ต่อมาบริษัทฯ ได้รื้อรางรถไฟออก ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๗  แล้วยกที่ดินเส้นทางรถไฟทั้งหมดให้เป็นทางสาธารณะ ตลอดเส้นทาง  เส้นทางรถไฟที่ว่านี้คือถนนสายหนองยายบู่ในปัจจุบัน

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

  • จากแผนที่ที่อ้างอิง พบว่า เส้นทางรถไฟเดิมมีแยกจากหนองยายบู่ขึ้นเลียบไปทางบ่อน้ำร้อนบางพระ และ และด้านใต้ ไปบ้านพันเสด็จ  อีก ๒ เส้นทาง  จากเส้นทางหลักที่มีการบันทึกไว้
  • ตามเส้นทางรถไฟบางจุด เป็นจุดที่อันตราย เช่น  บริเวณเนิน 3 ชั้น  เป็นทางลงเนิน  หากรถไฟขนไม้มาหนัก จะเบรคไม่อยู่   จึงต้องเอาทรายโรยลงรางบริเวณหน้ารถไฟ  เพื่อช่วยในการชลอความเร็วและเบรค ไม่เช่นนั้นรถไฟจะลื่นและตกรางได้ 

 

Visitors: 68,653