> วัดศรีมหาราชา

     วัดศรีมหาราชา  จากอดีตสู่ปัจจุบัน

         วัดศรีมหาราชานี้ ชาวศรีราชาเรียกว่า “วัดใน” คู่กับวัดเกาะลอยซึ่งเรียกว่า “วัดนอก” โดยวัดเกาะลอยอยู่ในความปกครองดูแลของวัดศรีมหาราชา ทั้งสองแห่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี สังกัดธรรมยุติกนิกาย เป็นวัดที่ชาวศรีราชาใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ พิธีกรรม และเป็นศูนย์รวมใจของศรัทธาสาธุชนมาช้านานแล้ว

            

 

         สันนิษฐานว่าบริเวณวัดศรีมหาราชาเป็นวัดในพระพุทธศาสนามาแต่โบราณกาลตั้งแต่อำเภอศรีราชานี้ยังเรียกว่าบางพระ ในช่วงที่ประเทศไทยมีการศึกสงคราม ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินทำการกอบกู้อิสรภาพ บ้านเมืองแถบฝั่งทะเลตะวันออก วัดวาอารามต่างๆ ได้รับความเสียหาย ยังไม่ได้รับการฟื้นฟู ครั้นบ้านเมืองสงบแล้ว ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่คงร่วมแรงร่วมใจบูรณะวัดคู่บ้านคู่เมืองของตนขึ้นมาใหม่เพื่อประกอบศาสนพิธีต่างๆ  เคยมีการค้นพบว่า วัดศรีมหาราชาปรากฏชื่อในทำเนียบวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๗๔ ในชื่อ ”วัดศรีราชา” ตามชื่อตำบล ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่พระวชิรญาณเถระ (รัชกาลที่ ๔) จะตั้งการบริหารคณะสงฆ์ไทยขึ้นอีกฝ่าย คือธรรมยุติกนิกาย หรือคณะธรรมยุต ในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

         ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ในรัชกาลที่ ๕) ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระตำหนักศรีมหาราชา เพื่อพักฟื้นพระวรกาย หลังจากทรงเศร้าโศกโทมนัสในการสูญเสียสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร และสมเด็จเจ้าฟ้าอีกพระองค์ในเวลาไล่เลี่ยกัน

 

               

          จอมพลมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม  แสงชูโต) ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมาประกอบกิจการทำไม้อยู่ที่ศรีราชาก่อนหน้านั้น ได้สร้างพระตำหนักน้ำชายทะเลถวายเป็นที่ประทับ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา) สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จมาประทับบ้างเป็นครั้งคราว ในระหว่างที่ประทับที่ศรีราชาก็ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเนืองนิตย์ โดยมีพระราชปรารภถึงพระสงฆ์ และวัดธรรมยุต

          แต่เวลานั้นที่วัดศรีราชา ซึ่งอยู่ใกล้กับพระตำหนัก มีแต่พระสงฆ์สังกัดมหานิกาย ไม่มีพระสงฆ์สังกัดนิกายธรรมยุต จึงโปรดให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ นมนต์พระสงฆ์สังกัดนิกายธรรมยุตมาประจำที่ศรีราชาบ้าง เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ จึงขอไปยังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ  ญาณวรมหาเถร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชมุนี เป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี เพราะท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีชาติภูมิเป็นชาวชลบุรีเช่นเดียวกัน

          สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จึงบัญชาให้พระชลโทปมคุณมุนี (พุฒ  ปุณณกเถร) วัดเขาบางทราย เจ้าคณะจังหวัดชลบุรี (ธ) ผู้เป็นพระอาจารย์ของท่าน จัดหาพระสงฆ์ไปอยู่ที่วัดศรีราชา ทางเจ้าคณะจังหวัดฯ จึงจัดให้ พระเขมทัสสีชลธีสมานคุณ (เอี่ยม เมฆียเถร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูพุทธกิจบริหาร) พระครูพิบูลธรรมกิจ (พระอาจารย์เผือก  ฉันนเถร วัดช่องลม อ. บางละมุง) และคณะสงฆ์อีก รวม ๑๑ รูป ไปประจำที่ อ. ศรีราชา

          สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีจัดเสนาสนะที่เกาะลอยเพื่อเป็นที่พำนักสงฆ์ คณะธรรมยุติ แต่ในขณะที่เสนาสนะที่เกาะลอยยังไม่แล้วเสร็จ คณะพระสงฆ์ธรรมยุตจึงจำพรรษาที่วัดศรีราชาในระยะแรก อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนการปกครองวัดเป็นธรรมยุติกนิกายในเวลาต่อมา

          สมเด็จพระพันวัสสอัยยิกาเจ้า ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทานภัตตาหาร และถวายผ้าพระกฐินแด่คณะสงฆ์ที่เกาะลอบอยู่เป็นนิจ จนกระทั่งพระองค์มิได้เสด็จฯ มาประทับที่ศรีราชาอีก วัดเกาะลอยจึงค่อยๆ รกร้างไปประกอบกับมีการนิมนต์พระภิกษุคณะธรรมยุตจากวัดเกาะลอยไปประจำที่วัดศรีราชาด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๙  วัดศรีราชาได้เปลี่ยนการปกรครองมาเป็นวัดในสังกัดนิกายธรรมยุต จึงมีการปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดศรีมหาราชา” โดยมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี  เจ้าเมืองชลบุรี และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๕ ให้การอุปภัมถ์ทำนุบำรุงวัดตลอดอายุกาล

          จากเดิมวัดศรีมหาราชามีเนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ เศษ ภายหลังเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นธรรมยุตนิกายแล้ว ราวปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ม.จ. หญิง ไขศรี  ปราโมทย์ ได้เสด็จประทับที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ทรงมีจิตศรัทธาซื้อที่ดินขยายอาณาเขตวัด ซึ่งติดต่อกับที่ของคุณหญิงสงวน  สุรศักดิ์ ถวายวัดอีก ๑ ไร่ เศษ รวมเนื้อที่ของวัดศรีมหาราชาในขณะนี้มีประมาณ ๑๔ ไร่เศษ

          จากประวัติความเป็นมาของวัดศรีมหาราชาที่ผ่านมา จะเห็นว่า ได้รับพระเมตตาให้การบูรณะทำนุบำรุงโดยเชื้อพระวงศ์  พระเถระชั้นผู้ใหญ่จากพระอารามหลวง และข้าราชการ ประชาชนชาวศรีราชาสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นต้นว่า การบูรณะโบสถ์ ในสมัยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนั้น ได้ปรากฏหลักฐานว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ เป็นผู้ออกแบบให้

          ดังความเมตตาในจดหมายเหตุ”สาส์นสมเด็จ”ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ซึ่งกราบทูลองค์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ความว่า “โบสถ์วัดศรีมหาราชา เป็นโบสถ์ทำใหม่ซึ่งเกล้ากระหม่อมให้อย่างมาเอง แต่ทำแล้วไม่ได้ออกไป เห็นว่าดีไม่มีโบสถ์ไหนในสยามเหมือน แต่ก็เผอิญทั้งนั้นคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มีศรัทธาจะสร้างโบสถ์ แต่ท่านไม่พอใจที่โบสถ์เก่าเล็กนัก เวลามีงานเช่นบวชนาค เป็นต้น สัปปบุรุษเข้าไม่ได้ ท่านอยากขยายให้ใหญ่ ท่านขอให้เกล้ากระหม่อมช่วยคิดแบบ เกล้ากระหม่อมจึงไปหารือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แต่ท่านไม่เต็มใจที่จะถอนสีมาเก่าผูกใหม่ เพราะสีมาเก่านั้น พระเทพกวี (นิ่ม) วัดเครือวัลย์ เป็นผู้ผูกไว้ ท่านอยากให้สีมาเก่าคงอยู่ เป็นอนุสรณ์ของพระเทพกวี เกล้ากระหม่อมจึงมาคิดแก้ไข เอาให้สำเร็จความประสงค์ของทั้งสองฝ่าย ทำแบบโบสถ์นั้นเอาประธานไว้เสมอสีมาเก่า ยกพื้นขึ้นสูง แล้วทำมุข หน้าลดพื้นต่อประกอบด้วยเฉลียง ๓ ด้าน มีผนังรอบ เป็นอันสีมาเข้าไปอยู่ในโบสถ์มีเขตเพียงอาสนะสงฆ์เท่านั้น จึงว่าไม่มีที่ไหนเหมือน เพราะที่มีแล้วมีสีมาเพียงผนังโบสถ์เป็ยอย่างแคบที่สุด แบบนี้เป็นอันพอใจทั้งสองฝ่าย”

           จาก “สาส์นสมเด็จ” ยังทำให้ได้ทราบว่า พระเทพกวี (นิ่ม) วัดเครือวัลย์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์ วรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี กรุงเทพฯ ได้เมตตามาประกอบพิธีผูกพัทธสีมาพระอุโบสถเก่าของวัดศรีมหาราชา ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๔๓๔ (ตามเอกสารประวัติรายนามเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดเครือวัลย์)

           การบูรณะพระอุโบสถตามการออกแพลนของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ โดยมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี บริจาคทรัพย์ในการก่อสร้างนั้น แล้วเสร็จราว พ.ศ. ๒๔๗๓ พัทธสีมาอยู่ในแนวอาสนสงฆ์ รองหลังคาธรรมดา ไม่มีช่อฟ้าใบระกาประดับ ด้านหลังมีประตู ๒ บานตรงเฉลียงข้างด้านหน้ามี ๓ บาน หน้าบันพระอุโบสถด้านหน้าและด้านหลังมีตัวอักษรขอมลายทอง เป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ มีข้อความที่ถอดจากภาษาขอมเป็นมคธ ดังนี้

 

                                 ป้ายด้านหน้า

                                สพฺพ ปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ

                                 คำแปล

                                การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตให้ผ่องแผ้ว นั่นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

                                ป้ายด้านหลัง

                                หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถาติฯ

                                คำแปล

                               ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีการเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยการ          

                               ไม่ประมาทเถิด

                

             เวลาต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ นั้นเอง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน “พระบิดาแห่งการรถไฟ” ได้ประทานถวายพระพุทธรูปจากในวังของพระองค์ให้เป็นพระประธานองค์ใหม่ประจำพระอุโบสถวัดศรีมหาราชาแทนพระประธานองค์เก่า เพื่อเป็นการฉลองอุโบสถที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์เป็นผู้ออกแบบ

              พระพุทธรูปองค์นี้ ตามประวัติว่ากรมพระยากำแพงเพชรได้ขุดค้นพบโดยบังเอิญเมื่อคราวที่เสด็จฯ ไปควบคุมงานก่อสร้างทางเขตภาคเหนือ พุทธลักษณะเป็นพระปางมารวิชัย ศิลปะสมัยเชียงแสน หน้าตักกว้าง ๒ ศอกกำ (๑.๑๐ เมตร) จากนั้นพระองค์จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปโบราณนั้นมาประดิษฐานในวังของพระองค์เพื่อสักการะบูชา ในขณะที่พระพุทธรูปองค์นี้ยังอยู่ที่ในวังก็เป็นที่เคารพนับถือของชาววังทั่วไป ช่วยปัดเป่าในเรื่องความทุกข์เดือดร้อนให้หายไปในทันที จึงได้ทรงพระนามว่า “หลวงพ่อทันใจ” เหมือนกับนามของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อเสียงของชาวล้านนา ซึ่งมีพุทธลักษณะเป็นศิลปะเชียงแสนเช่นเดียวกัน

              เมื่อ”หลวงพ่อทันใจ” ได้มาประดิษฐานที่วัดศรีมหาราชาแล้ว ประชาชนในถิ่นใกล้ไกลต่างรู้กิตติศัพท์ของหลวงพ่อทันใจจึงได้เดินทางมานมัสการขอพรกันเป็นจำนวนมาก ต่างก็ประจักษ์ในความศักดิ์สิทธิ์สัมฤทธิ์ผลในการขอพรนั้น ในสมัยพระครูปริยัติวราทร (หลวงพ่อผิว) เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการบูรณะองค์พระโดยการลงรักปิดทองเป็นครั้งแรก และปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ในสมัยพระครูปริยัติวราทร (ธีรชัย ญาณธโร) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ก็ได้มีการบูรณะโดยการปิดทองให้คงความสมบูรณ์งดงามเป็นศรีของวัดสืบมา

                       

              ในสมัยของพระครูปริยัติวราทร หรือหลวงพ่อผิว ท่านเป็นสัทธิวิหาริกในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ  สุขบท) อุปสมบทที่วัดเขาบางทราย แต่ได้ไปเรียนพระปริยัติและอุปฐากใกล้ชิดสมเด็จฯ ณ วัดเทพศิรินทร์ฯ เมื่อสมเด็จฯ ได้รับแจ้งว่าตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีมหาราชาว่างลง สมเด็จฯ ท่านจึงได้มีรับสั่งให้หลวงพ่อผิว ศิษย์ของท่านซึ่งเป็นชาวชลบุรีเช่นเดียวกันมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีราชา ตอนนั้นหลวงพ่อผิวมีวัย เพียง ๒๙ เท่านั้น

              ในสมัยหลวงพ่อผิวมาปกครองวัดศรีมหาราชานั้น ท่านได้บูรณะวัดเกาะลอยซึ่งเริ่มรกร้างให้เจริญควบคู่กันไปด้วยจนปัจจุบัน เกาะลอยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไปในฐานะเป็นสัญลักษณ์ของเมืองศรีราชา

 

                                 

               การก่อสร้าง และการบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่งๆ ภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ โรงรียนปริยัติ โรงเรียนประชาบาล กุฏิสงฆ์ จึงเกิดขึ้นในสมัยหลวงพ่อผิวโดยมาก เพราะท่านปกครองวัดอยู่ยาวนานถึง ๕๑ ปี

              ราวปี พ.ศ. ๒๔๙๔ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (พระสังฆราชองค์ที่ ๑๓ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วย) ได้ทรงเสด็จฯ ดำเนินมาพักผ่อนที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ได้ทรงเสด็จฯ มาร่วมสวดพระปาฏิโมกข์กับคณะสงฆ์ที่วัดศรีมหาราชา ได้ทรงเมตตาให้คำแนะนำหลวงพ่อผิวเกี่ยวกับเรื่องสถานที่ตั้งอันเหมาะสมของเมรุที่วัด โดยก่อนหน้านั้นท่านยังประทานถ่ายภาพให้แก่สำนักเรียนธรรมวัดศรีมหาราชา ในโอกาสที่มีนักเรียนธรรมสอบได้คะแนนเป็นเยี่ยม ในภาคประจำปี ๒๔๙๕ ด้วย

 

หลวงพ่อทันใจ

                หลวงพ่อทันใจ เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดศรีมหาราชา ปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน หน้าตักกว้าง ๒ ศอกกำ (๑.๑๐ เมตร) พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน ประทานถวายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ แทนพระประธานองค์เก่า เพื่อเป็การฉลองอุโบสถที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์เป็นผู้ออกแบบ

                ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านหลวงพ่อเห็นว่าโบศถ์เก่านั้นเล็กและแคบเกินไป และสภาพก็ชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว ท่านจึงดำริสร้างใหม่ ได้วางศิลาฤกษ์ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ สร้างเป็นแบบจตุรมุข มีประตู ๓ ด้าน มีช่อฟ้าใบระกา ด้านโบสถ์มีประตูลงชั้นใต้ดินซึ่งทำเป็นที่พระนวกะเรียนธรรม ความกว้างของโบสถ์ ๑๓ วา (๒๖ เมตร) ความยาวของตัวโบสถ์ ๒๐ วา (๔๐ เมตร) ระเบียงนอกพื้นทั้งสองข้างกว้าง ๓๐ เมตร ระเบียงนอกพพื้นทั้งสองข้างกว้าง ๖๐ เมตร ทำบันไดลงทั้ง ๔ ด้าน สร้างเสร็จผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ รวมเวลาสร้าง ๑๑ ปี สิ้นค่าก่อสร้าง ๑๒ ล้านบาท (สิบสองล้านบาทถ้วน) โดยประมาณ โบสถ์ใหม่หลังนี้ นับว่าเป็นผลงานดีเด่นของหลวงพ่อพระครูปริยัติวราทร (ผิว) เป็นอย่างยิ่ง

                แต่เดิมนั้นฐานบังขององค์พระพุทธรูปไม่มี ได้หล่อขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระพุทธรูปองค์นี้นับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองชาวศรีราชา แม้ในขณะที่หลวงพ่อทันใจองค์นี้ยังอยู่ในวังก็เป็นที่เคารพนับถือของชาววังทั่วไป ช่วยปัดในเรื่องเดือดร้อนให้หายไปในทันที จึงได้นามว่า “หลวงพ่อทันใจ”

                เมื่อมาอยู่ที่วัดศรีมหาราชา ประชาชนในถิ่นนี้หรือถิ่นไกลออกไปต่างก็รู้ซึ้งถึงกิตติศัพท์ของหลวงพ่อทันใจ จึงได้มาขอพรกันเป็นจำนวนมาก ต่างก็ได้ประจักษ์ในความศักดิ์สิทธิ์สัมฤทธิ์ผลในการขอพรนั้น จึงทำให้ผู้คนเคารพนับถือกันทั้งใกล้ไกล ซึ่งดูจากพวงมาลัย ดอกไม้และสิ่งบูชา อีกทั้งทองที่ปิดองค์หลวงพ่อทันใต นั้นเต็มไปหมด นับเป็นสิ่งยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์และความเคารพนับถือของชาวบ้านทั้งถิ่นใกล้และไกล

 

 

พระพุทธศรีมหาราชาประชานาถ

พระพุทธศรีมหาราชาประชานาถเป็นพระพุทธรูปพุทธศิลป์แบบรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย เนื้อทองแดง หน้าตักกว้าง ๑๖ นิ้ว สูง ๓๖ นิ้ว ทรงสังฆาฏิแบบธรรมยุต ๒ ชั้นพระเกศบัวตูม

ประวัติความเป็นมานั้น เป็นพระพุทธรูปที่อยู่คู่กับวัดศรีมหาราชมาช้านาน ในเทศกาลปีใหม่และวันลอยกระทง มักจะอัญเชิญมาให้ประชาชนสรงน้ำปิดทองทุกปี จนถึงสมัยหลวงพ่อผิวได้อัญเชิญท่านประดิษฐาน ณ ศาลาบำเพ็ญกุศล (ศาลา ๒)เรื่อยมาจึงมิได้นำมาให้ประชาชนสักการะ จนมาถึงสมัยพระครูสังฆรักษ์ธีรชัย รักษาการเจ้าอาวาส (สมัยนั้น) มีดำริให้ย้ายมาประดิษฐานไว้ใต้พระอุโบสถ

                จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้มีการสร้างกุฏีเป็นที่ระลึกแด่พระครูปริยัติวราทร (ผิว ปนันโท) ซึ่งกุฏีหลังเดิมที่หลวงพ่อผิวได้อยู่นั้นได้ทำการก่อสร้างเมื่อปี ๒๔๙๙ ตัวอาคารเป็นตึก ๒ ชั้น โดยมีพระครูปริยัติวราทร (ผิว  รัตนจินดา) นางวิเชียร  ชมรัตน์ นางกาญจนา  ประทีปะวนิช นางกิมซ่วน  เรืองอร่าม และนางอู๋  กันดัด  บริจาคทรัพย์สร้างถวาย และได้ตั้งชื่อกุฏีนี้ว่า รวมทรัพย์อุทิศ

                ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันและคณะศิษยานุศิษย์มีความเห็นตรงกันว่าสมควรที่จะทำการสร้างใหม่เพื่อเป็นเกียรติคุณแด่หลวงพ่อผิวและใช้เป็นที่เก็บอัฏฐบริขารของท่านพร้อมทั้งใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม โดยได้รับประทานนาม กุฏีว่า “ปนันทกุฏี” จากสมเด็จพระญาณวโรดม เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อขอประทานนามพระพุทธรูปองค์นี้เพื่อเป็นศิริมงคลแก่พุทธศาสนิกชนว่า “พระพุทธศรีมหาราชาประชานาถ”อันมีความหมายว่า พระพุทธรูปที่เป็นที่พึ่งของชาวศรีราชา

 

                 

พระนิรันตราย

                พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้สร้างขึ้นสำหรับตั้งในงานพระราชพิธีองค์หนึ่งไม่มีเรือนแก้วแล้วทรงพระราชดำริให้จำลองสร้างอย่างมีเรือนแก้ว สำหรับพระราชทานไปประดิษฐานไว้ตามพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุต วัดละองค์ รวม ๑๘ องค์ ในตอนปลายรัชกาล ทรงพระกุรณาโปรดเกล้า ให้หล่อพระพุทธรูปขึ้นอีกองค์หนึ่งแต่ยังไม่ทันได้เชิญไปประดิษฐานไว้ ณ ที่ใดก็สิ้นรัชกาล ต่อมารัชกาลที่ ๕ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส

                                ศิลปะ     : แบบทวาราวดี  ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕

                                ขนาด      : หน้าตักกว้าง ๖ เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ ๘.๒๐ เซนติเมตร

                                วัสดุ        : ทองคำ

                                ปัจจุบัน   : ประดิษฐานภายในหอพระสุลาลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร

                มูลเหตุเดิมนั้น เมื่อปีมะโรง พุทธศักราช ๒๓๙๙ กำนันอิน ซึ่งอยู่ในแขวงปราจีนบุรี ได้นอนฝันไปว่า จับช้างเผือกได้แล้วจึงไปขุดมันนกพร้อมกับนายยังบุตรชายที่ชายป่ากุงศรีมหาโพธิ์ประมาณ ๓ เส้น ทั้งสองคนได้พบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำเนื้อหกน้ำหนัก ๘ ตำลึง จึงนำมามอบให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ได้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดว่า สองคนพ่อลูกมีกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อขุดได้พระทองคำเช่นนี้มิได้ยุบหล่อไปซื้อจ่ายอาณาประโยชน์ และยังซ้ำมีน้ำใจทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรางวัลเงินตรา ๘ ชั่ง พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำนี้ไปรักษาไว้ ณ หอมณเฑียรธรรมปริตร กับพระกริ่งทองคำองค์น้อย ครั้นปีวอก พุทธศักราช ๒๔๐๓ มีผู้ร้ายลักพระกริ่งองค์น้อยซึ่งตั้งอยู่กับพระทองคำองค์นั้นไป จึงทรงพระดำริว่า พระพุทธรูปซึ่งกำนันอินกับนายยังบตรได้ค้นพบและพระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายนั้นก็เป็นทองคำทั้งแท่งใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่ผู้ร้ายจะลักพระพุทธรูปองค์นั้นไป ก็เผอิญให้แคล้วคลาดถึง ๒ ครั้งทั้งที่ผู้ขุดได้ก็ไม่ทำอันตรายเป็นอัศจรรย์อยู่ จึงภวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระนิรันตราย อันมีความหมายว่า ปราศจากอันตราย

 

                                ศิลปะ     : แบบรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๓๙๔

                                ขนาด      : หน้าตักกว้าง ๑๑.๖๔ เซนติเมตร สูงเฉพาะองค์พระ ๒๐.๓๐ เซนติเมตร สูงรวมฐาน ๓๔.๓๐ เซนติเมตร

                                วัสดุ        : ทองคำ

                                ปัจจุบัน   : ประดิษฐานภายในหอพระสุลาลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร

                พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หล่อพระนิรันตรายองค์นี้ด้วยทองคำตามพระพุทธลักษณะสวมพระพุทธรูปนิรันตรายองค์เดิมอีกชั้นหนึ่งกับทั้งให้หล่อด้วยเงินบริสุทธิ์เป็นคู่กันอีกองค์หนึ่ง พระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองคำนั้นไว้สำหรับตั้งบนโต๊ะเบื้องขวาแห่งพระแท่นมณฑลในการพระราชพิธีต่างๆ อาทิ พระราชสัมพัจฉรฉินท์

                ครั้นภายหลังทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย ซึ่งพระองค์ได้ทรงสถาปนาแพร่หลายไพบูลย์มากขึ้น จนผู้มีทรัพย์มีศรัทธาได้สร้างอารามประสงค์เฉพาะถวายให้เป็นอาวาสแก่พระสงฆ์ฝ่ายคณะธรรมยุติกนิกายมากขึ้นหลายพระอาราม ลัทธิธรรมวินัยนั้น รุ่งเรืองเจริญมากขึ้นสมควรจะมีสิ่งซึ่งเป็นสำคัญสำหรับเป็นที่ระลึกสืบไป ในปีมะโรง พุทธศักราช ๒๔๑๑ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ช่างหล่อพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกันกับพระพุทธรูปซึ่งสวมพระนิรันตรายโดยหล่อใหม่ด้วยทองคำเหลืองแล้วกาไหล่ทองคำมีเรือนแก้วอยู่เบื้องหลัง เรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ์ มีอักษรขอม จำหลักลงในวงกลีบบัวเบื้องหน้า ๙ เบื้องหลัง ๙ พระคุณนามแสดงพระพุทธคุณตั้งแต่ อรหํ  สมฺมา สมฺพุทฺโธ จนถึง ภควา ยอดเรือนแก้วมีรูปพระมหามงกุฏตั้งติดอยู่กับฐานชั้นล่างซึ่งประดับด้วยรูปศีรษะโค

                ทรงพระมหากรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หล่อพระนิรันตรายจำนวน ๑๘ พระองค์เท่ากับจำนวนปี ซึ่งได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติแล้วทรงพระราชดำริว่า จะทรงหล่อปีละองค์พร้อมกับพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปีโดยที่ทรงถวายพระนามพระพุทธรูปเก่าและใหม่ว่าพระนิรันตรายทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีพระนิรันตรายดังกล่าวนั้นยังหาได้กาไหล่ทองไม่ พอดีเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ช่างกาไหล่ทองคำพระพุทธรูปทั้ง ๑๘ องค์ เสร็จบริบูรณ์แล้ว จึงพระราชทานไปตามวัดพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย วัดเหล่านี้มีวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นอาทิ ตามพระบรมราชประสงค์ในพระพบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นยังทรงสร้างพระราชทานพระอารามหลวงซึ่งเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย วัดละองค์สืบมา

                ปัจจุบันอัญเชิญพระนิรันตรายเข้าในงานพระราชพิธีสำคัญๆ ดังเช่น พระราชพิธีหล่อพระพุทธรูป และราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น

                ส่วนพระนิรันตรายในวัดศรีมหาราชานั้น ได้รับมอบจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ณ วันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยพระครูสังฆรักษ์ธีรชัย รักษาการเจ้าอาวาสวัดศรีมหาราชาเป็นผู้รับมอบ ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูปริยัติวราทร เจ้าอาวาสวัดศรีมหาราชาองค์ปัจจุบัน

                หลังจากทำพิธีพุทธาภิเษกโดยมีพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่กหัว เสด็จพระราชดำเนินทรงพระสุหร่ายและทรงเจิม “พระนิรันตราย” ณ พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วันพุธที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ในฝ่ายสงฆ์มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เสด็จฯ ทรงจุดเทียนชัยพุทธาภิเษก “พระนิรันตราย” ณ พระอุโบสถวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วันอาทิตย์ ที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ โดยมีคณาจารย์เจริญภาวนาเมตตาจิตในพิธีพุทธาภิเษกพระนิรันตรายในครั้งนี่ ตั้งแต่วันที่ ๙-๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน มีรายนามพระคณาจารย์ดังนี้

๑.      สมเด็จพระสังฆราช

๒.      สมเด็จพระมหาวีรวงศ์

๓.      พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ)

๔.      พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ)

๕.      พระเทพสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อแพ)

๖.      พระครูสุตพลพิจิตร (หลวงปู่คร่ำ)

๗.      พระครูสมุทรสุวรรณกิจ (หลวงพ่อดี)

๘.      พระครูฐาปนกิจสุนทร  (หลวงพ่อเปิ่น)

๙.      พระครูพิศาลพรหมจรรย์ (หลวงพ่อสวัสดิ์)

๑๐.     พระราชอุดมมงคล (หลวงพ่ออุตตมะ)

 

และยังมีพระคณาจารย์เจริญภาวนาเมตตาจิตในงานพุทธภิเษกพระนิรันตรายในครั้งนี้เป็นจพนวนมาก

 

ลำดับเจ้าอาวาส วัดศรีมหาราชา

ก่อนหน้านี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าท่านใดเป็นเจ้าอาวาสฯบ้างที่มีการบันทึกไว้จึงมีตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๙ -ปัจจุบัน

๑. พระมหาเปรม “เปมงฺกโร” พ.ศ.๒๔๖๙

๒. พระครูธรรมธร (เที่ยง “ญาณอุชุโก”) พ.ศ.๒๔๗๐ ถึง ๒๔๘๒

๓. พระภิกษุสมบุญ พ.ศ.๒๔๘๒ (เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสฯ)

๔. พระภิกษุบุญช่วย “สุสังคโห” พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๘๔ (เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสฯ) หลังจากนั้นก็ว่างเจ้าอาวาสฯลง มีคณะสงฆ์ช่วยกันดูแลรักษาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๖

๕. พระครูปริยัติวราทร (พระมหาผิว “ปนันโท” รัตนจินดา)

๖. พระครูปริยัติวราทร ( ธีรชัย “ญาณธโร” กฤตลักษณ์) พ.ศ. ๒๕๓๗ จนถึงปัจจุบัน

 

                            

 

(บันทึกเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๕)

 

 

Visitors: 63,886