คุณป้าวิลาภรณ์ ผู้หลงเสน่ห์ของจิ๋ว
สำหรับใครก็ตามที่ได้ผ่านไปทางซอยโรงเจศรีราชา และได้มีโอกาสเข้าไปนั่งอยู่ในบ้านของคุณป้าวิลาภรณ์ มณีรัตน์ หากคุณเป็นคนเจ้าระเบียบสักหน่อย ก็อาจจะติดใจว่าสถานที่นั้นออกจะรกเกินไป แต่เมื่อได้หยุดและนั่งพินิจด้วยความสนใจ สิ่งที่คุณได้เห็นนั้นอาจจะเปลี่ยนความคิดของคุณได้บ้าง
“รกหน่อยนะ เห็นว่าจะมากัน เลยเอาของไปกองๆ แอบไว้ พวกคีม พวกกาว อะไรสารพัดก็เอามากองไว้ตรงนี้” คุณป้าวิลาภรณ์ มณีรัตน์ ออกตัวกับเราก่อนเล็กน้อย พร้อมกับเชิญให้พวกเรานั่งอย่างเป็นกันเอง “เดิมป้าเป็นคนราชบุรี ส่วนสามีเป็นคนศรีราชา พอแต่งงานกันแล้วก็เลยย้ายตามสามีมาอยู่ที่ศรีราชา ถึงตอนนี้ก็ราว 42 ปี แล้ว” คุณป้าบอกประวัติกับเราคร่าวๆ
พลันที่กวาดสายตาไปทั่วบริเวณบ้านเราก็รับรู้ได้ถึงความชอบอย่างล้นเหลือที่เจ้าของบ้านมีต่องานอดิเรกของตน ผนังทั้งสี่ด้านรอบอาคารหลังนี้ถูกปูเต็มไปด้วยตู้โชว์ที่ถูกจัดวางสิ่งของสะสมของคุณป้าทั้งขนาดจิ๋วและขนาดเล็ก เอาไว้จนเต็มทุกตู้
“ของพวกนี้ส่วนใหญ่ป้าซื้อมาจากอังกฤษ” เป็นคำตอบแรกสำหรับคำถามของเรา “คือว่าลูกสาวป้าย้ายไปอยู่ที่อังกฤษ ปีหนึ่งก็จะบินไปอยู่กับเขา 6 เดือน ไปทีก็ซื้อมาที มันก็เลยเยอะ แล้วก็มีที่คนอื่นซื้อหามาฝากบ้างเพราะเขารู้ว่าเราชอบ มารู้ตัวอีกทีมันก็เต็มบ้านไปหมดแล้ว”
“ตอนแรกเลยก็ไม่ได้ตั้งใจจะเก็บหรอกนะ อันแรกที่เก็บเป็นนาฬิกาทองคำขาวฝังเพชร เรือนเล็กๆ แต่มันก็ไม่ใช่ของจิ๋วนะ คือว่ามันก็ใส่ได้ปกติ จากนั้นเวลาไปงานแต่งงานหรืออะไรที่มีของชำร่วยก็ชอบ เลยเก็บสะสมมาเรือย” คุณป้าเล่าให้ฟังพร้อมกับหานาฬิกาเรือนที่พูดถึงขึ้นมาให้เราดู
“ตอนหลังนี่พอเริ่มมีสตางค์ขึ้นหน่อย ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ ไปกี่ประเทศก็จะซื้อมาหมด พวกของจิ๋วทั้งหลาย เวลาไปกับเพื่อนๆ ก็ไม่มีใครสนใจเหมือนป้านะ มีแต่เราคนเดียวที่เที่ยวเสาะหาซื้อของพวกนี้”
เจ้าของบ้านเล่าให้เราฟังต่ออย่างออกรส “เวลาไปซื้อก็เป็นเรื่องสนุกนะ เพราะภาษาฝรั่งป้าก็ไม่ใช่ว่าพูดได้ แต่ก็มีวิธีซื้อ คือ ใช้เขียนเอา ต่อรองกันด้วยการเขียน กับใช้ท่าทางบ้าง ต่อกันไปต่อกันมาจนซื้อได้นั่นแหละ”
“มีทั้งหมดในบ้านนี้กี่ชิ้นอย่าถามเลย นับไม่หมด มีแต่ชุดถ้วยชาที่ป้าเคยนับไว้ ติดเบอร์ไว้ด้วย” คุณป้าชี้ไปที่ชั้นโชว์ด้านหน้าบ้านที่เต้มแน่นไปด้วยชุดถ้วยชา “ทายดูสิว่ามีกี่ชุด” เสียงเจ้าของชุดน้ำชาท้าให้เราคะเน เราได้แต่กวาดดูด้วยสายตา จนในที่สุดก็ยอมแพ้ ต้องขอให้ผู้เป็นเจ้าของเฉลยให้ฟัง “80 ชุด ไม่มีซ้ำ” ผู้เป็นเจ้าของบอกเราอย่างนั้น “ชุดแรกเพื่อนซื้อมาฝากจากฮ่องกงแล้วป้าชอบ ก็เลยหาซื้อมาเรื่อยๆ ทั้งจากอังกฤษแล้วก็มีจากที่อื่นบ้าง”
เมื่อท่องเที่ยวซื้อของสะสมในแบบที่ตนชอบมามากแล้ว วันหนึ่งคุณป้าวิลาภรณ์ก็ได้รู้จักกับ “เครื่องดนตรีจิ๋ว” ฝีมือคนไทยใกล้บ้านอย่างคุณชาญ “คือวันนั้นมีเพื่อนมาบอกว่า รู้หรือยังว่ามีคนทำเครื่องดนตรีจิ๋วขาย อยู่ที่ปากตรอกบ้านเรานี่เอง ป้าก็บอกว่าไม่รู้หรอกเพราะเราไม่เคยเดินไปทางด้านนั้น จะสั่งแก๊สหรืออะไรก็ให้เด็กไปจัดการให้ตลอด พอรู้เราก็ไปสั่งเลย พอดีว่าตอนที่ไปหาคุณชาญแกไม่มีสีแดง ป้าก็บอกว่าป้าอยากได้กีตาร์สีแดง แกก็ทำให้จนเสร็จ แล้วเอามาให้ที่บ้านนี่แหละ ก็กลายเป็นว่าเขาทึ่งที่ได้เห็นของสะสมของป้า”
เราถามคุณป้าถึงความแตกต่างระหว่างงานของคุณชาญกับงานเครื่องดนตรีจิ๋ว “สวยทั้งคู่นะ แต่สวยกันคนละแบบ” และนอกจากความชอบสะสมของจิ๋วเป็นการส่วนตัวแล้ว คุณป้าวิลาภรณ์ก็ยังเป็นสมาชิกชมรมของจิ๋วด้วย “ชมรมอยู่ที่กรุงเทพฯ ป้าเคยไปร่วมงานกับเขานะ ครั้งหนึ่งเอาของไปร่วยโชว์ แต่พอตอนเอากลับของเรามีหายไปบ้าง จากนั้นมาป้าก็ไม่เอาแล้ว ไม่ไปร่วมแล้ว” คุณป้ายังเล่าต่ออีกว่า “บางครั้งในชมรมเองก็มีการแลกเปลี่ยนของสะสมกัน แต่ป้าก็ไม่เคยแลกอะไรกับเขาหรอกนะ เพราะของเรามีชิ้นเดียว ซื้อมาไกลด้วย เลยไม่รู้จะเอาอะไรไปแลกกับเขา”
ของที่ป้าสะสมไว้ทั้งหมดได้รับการเก็บรักษาอย่างดี และคุณป้ายังบอกอีกว่าสามารถจำได้ทั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งบางส่วนก็ถูกจัดวางในลักษณะดีสก์เพลย์ หรือสร้างเรื่องราวให้กับมัน เช่น ชุดร้านขายต้นไม้ ชุดห้องนอน บ้านตุ๊กตาที่ซื้อมาจากอังกฤษและจัดตกแต่งด้านในบ้านด้วยเฟอร์นิเจอร์จิ๋ว ซึ่งได้สร้างความน่าสนใจ มันดูเหมือนกับโต๊ะ เก้าอี้ จักรเย็บผ้า ฯลฯ ที่คุณป้าสะสมไว้นั้น มีชีวิตโลดแล่นขึ้นมา ที่สำคัญคือ การประดับตกแต่งทั้งหมดมาจากของจิ๋วที่คุณป้าซื้อมาจากต่างที่ทาง แล้วนำมาจัดเข้ากันตามจินตนาการ “มันต้องมีหัวศิลปะด้วย” คุณป้าบอก
ทั้งหมดที่เราเห็นหลังจากได้พูดคุยกับคุณป้าวิลาภรณ์ ก็คือความรักในสิ่งที่ทำ ซึ่งคล้ายน้ำที่คอยจรุงให้ชีวิตแช่มชื่นเบิกบาน เป็นความสุขเมื่อได้ปล่อยจินตนาการให้โลดแล่นไปกับโลกใบน้อยที่ตนได้เป็นผู้กำหนด เมื่อรำลึกที่มาของสิ่งของแต่ละชิ้น ทั้งเหตุการณ์และผู้คนที่เคยได้ผ่านพบหรือกระทั่งได้อวดโฉมของสะสมอันมากค่าเหล่านี้แก่ผู้อื่น เป็นความสุขก้อนจิ๋วหลายๆก้อน ที่ถูกนำมาอัดรวมกันอยู่ในบ้านหลังนี้
วันนั้นเราได้รับความสุขก้อนนั้นติดใจกลับบ้านด้วย...