ความยิ่งใหญ่ ในโลกใบจิ๋ว

          คุณชาญ สังข์ทอง เป็นชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พ่อเป็นช่างไฟฟ้าประจำโรงไฟฟ้าอำเภอบางพลี ส่วนแม่นั้นเป็นชาวนา เขาเป็นลูกคนที่ 5 จากพี่น้อง 10 คน

     "ผมเรียนมาทางศิลปะ" เขาบอกกับเราเมื่อถูกถามถึงเส้นทางสู่อาชีพช่างทำป้าย "ผมจบ มศ.3 แล้วไปต่อที่อาชีวะศิลป์ ไปด้วยใจรัก ด้วยความชอบงานศิลปะ อย่างตอนที่เรียนอยู่มัธยม ผมก็ไปช่วยงานโรงเรียนเสมอๆ นะ เวลามีงานประกวดศิลปะ ครั้งหนึ่งมีการประกวดงานศิลป์ระดับจังหวัด ผมก็ไปช่วยโรงเรียนตกแต่งประดับเรือย ปีนั้นโรงเรียนผมชนะด้วยนะ เรียนอยู่ 3 ปี จนจบ ปวช. ก็ออกมาทำงานเลย ทั้งๆ ที่ตอนแรกคิดว่าจะไปเรียนต่อที่เพาะช่าง"

          เขาเล่าต่อว่า "ผมตั้งใจไว้แล้วว่าอยากทำงานป้าย อยากเปิดร้านเขียนป้าย ออกแบบป้ายร้านตัวเองไว้ตั้งแต่ยังไม่มีร้านเลย" นายช่างผู้คร่ำหวอดในวงการป้ายมามากกว่า 20 ปี เล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม เมื่อรำลึกถึงครั้งที่ร้านป้ายยังเป็นแค่ความฝัน

     จริงๆ แล้วที่เรียนมาไม่ค่อยได้ใช้กับงานป้ายเท่าไหร่ ตอนเรียนไม่มีสอนนะการเขียนตัวอักษรเนี่ย ต้องมาฝึกเอง พอจบช่างศิลป์ผมก็มาหัดเขียนป้าย เริ่มจากเขียนด้วยปากกาปากแบนก่อน จนกระทั่งเขียนได้เราก็เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ จนเขียนได้ จำได้ทุกแบบ แต่ระยะหลังนี่ก็ไม่ได้ใช้เท่าไหร่เพราะมีคอมพิวเตอร์มาช่วยทำแทนแล้ว

     “จากนั้นก็หาที่เปิดร้าน ผมก็มาดูที่ศรีราชาที่แรกเลย จนตกลงได้เช่าตึกโดยหุ้นกับรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง เป็นห้องแถวห้องเดียวอยู่ตรงข้ามร้านศูนย์นักเรียนช่างชาญเล่าถึงเหตุผลที่ย้ายมาอยู่ที่ศรีราชา อยู่ได้ 2 ปี ผมก็นึกอยากจะเปิดร้านของตัวเอง จึงออกมาเช่าตึกอยู่ตรงร้านปัจจุบัน จนตอนนี้ก็ 22 ปีแล้ว ตอนนี้ผมก็พูดได้เต็มปากว่าผมเป็นคนศรีราชา

 

เริ่มต้นทำเครื่องดนตรีจิ๋ว

     สมัยเรียน ปวช. เวลาเพื่อนๆ ไปดูคอนเสริ์ตกัน ไปตีกัน ผมมักจะหลบไปเล่นดนตรีกับกลุ่มของน้องชาย นอกจากจะเล่นแล้วผมยังรู้สึกหลงไหลในเครื่องดนตรีด้วย ผมชอบที่จะดูว่ามันประกอบอย่างไร มีชิ้นส่วนอะไรบ้าง ผมจะมีหนังสือเกี่ยวกับการประกอบเครื่องดนตรีอยู่เล่มหนึ่ง ก็อาศัยดูแบบจากในหนังสือเล่มนี้เขาเล่าพร้อมกับลุกขึ้นหาหนังสือเล่มที่ว่ามาให้เราดู มันดูไม่เก่ามากนัก แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการเก็บรักษา ภายในเล่มบอกรายละเอียดการประกอบเครื่องดนตรีโดยเฉพาะกลองไว้อย่างครบถ้วน

     กระทั่งปี 2548 น้องชายผมก็เอากลองกระดาษที่ทำขึ้นเองมาให้ผมชุดหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่ได้สนใจมันเลย เอาวางไว้หลังทีวีจนฝุ่นจับเต็มไปหมด พอจะเอามาทำความสะอาดปรากฏว่าทำไม่ได้ เช็ดปัดไม่ได้เลย เพราะงานมันจะพัง ผมก็เลยมานั่งคิดว่าเราจะทำให้งานชิ้นนี้มันแข็งแรงขึ้นได้อย่างไร เลยทำให้เกิดไอเดียจะนำเศษวัสดุที่เหลือจากงานป้าย เช่น เศษพลาสติก เศษอะคิลิก พวกนี้แพงนะ แต่พอเหลือเศษเอาไปชั่งกิโล ขายได้กิโลละ 6 บาทเอง

     “ตอนทำครั้งแรกก็ทำมาโชว์เฉยๆ ทำออกมาขายเมื่อปี 50 เพราะว่าตอนปี 49 ผมใช้เวลาทั้งปีเลยสำหรับการปรับปรุงผลงานให้เหมือนจริงมากที่สุด จนได้งานออกมาเรียกว่าเกือบสมบูรณ์เลย ช่วงนั้นพี่อู๊ด จักกะพาก มาเห็นงานของผมแกก็ชอบเลยสนับสนุน หวังว่าจะทำให้เป็นของฝากของศรีราชาได้เลยให้ไปจัดโชว์ที่งานกองข้าว ได้รับความสนใจมากจริงๆ แต่พี่อู๊ดบอกผมไว้ว่ายังไม่ให้ขายของ ให้โชว์อย่างเดียวเป็นการเปิดตัว ทั้งๆที่ใจผมอยากขายนะ หลังจากจบงานกองข้าว ผมก็ให้น้องชายไปโพสขายในพันทิปมาร์เก็ต (www.pantip.com) แค่ 1 สัปดาห์ มีคนโทรมาสั่งจองจนผมทำแทบไม่ทันเลย ทำให้เสียงานป้าย ผมต้องบอกน้องชายให้ยกเลิกการขายในเว็ปไปก่อน หลังจากนั้นผมก็จับงานตรงนี้จริงๆ จังๆ เลย ทำเก็บสต็อกเอาไว้ ใครโทรมาสั่งก็ส่งของให้ได้ทันทีเลยเขาเล่าอย่างออกรส ความภูมิใจฉายชัดผ่านน้ำเสียง

     หลังงานกองข้าวไม่นานก็มีรายการทีวีติดต่อเข้ามาขอสัมภาษณ์ คือ รายการสยามทูเดย์ จากช่อง 5, รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง จากช่อง 3 และรายการท่องเที่ยวทั่วไทย จากช่อง 7 หลังจากจบรายการสยามทูเดย์ ก็มีโทรศัพท์หาผมทันทีเลย หลายสายมาก ผมได้คุยแค่สามสี่สายเท่านั้นเอง ที่ประทับใจผมก็คือ มีคุณป้าคนหนึ่งเป็นคนบ้านเรานี่เอง (ศรีราชา) ซึ่งคุณป้าคนนี้แกชอบสะสมของจิ๋ว บ้านอยู่ในซอยโรงเจในบ้านแกก็จะมีแต่ของพวกนี้เต็มไปหมด ทั้งของไทย ของนอก พอรู้ข่าวแกก็มาหาผมตั้งแต่เช้าเลยนะ มาซื้อไปเลยทั้งชุด แกบอกว่าไม่เคยรู้เลยว่ามีของจิ๋วอยู่ในบ้านแกเขากล่าว

     จุดเริ่มต้นจากกลองกระดาษมาถึงกลองจากเศษวัสดุทำมือ ขั้นต่อไปก็คือทำให้ครบองค์ประกอบของวงดนตรี เมื่อทำกลองได้แล้วก็รู้สึกว่ามันน่าจะมีเครื่องดนตรีให้ครบวง ผมเลยเริ่มมองหาแบบก็จากหนังสือบ้างของจริงบ้าง มีทั้งกีตาร์ คีย์บอร์ด ตู้แอมป์

     “นอกจากนี้ผมก็สนใจเรื่องการจัดเวที การจัดไฟต่างๆด้วย สมัยวัยรุ่นนี่ ถ้ามีคอนเสริ์ตผมจะไปนั่งเฝ้าตั้งแต่เขาเริ่มตั้งเวทีกันเลยนะเมื่อได้ฟังถึงตรงนี้ เราไม่แปลกใจอีกแล้วว่า เครื่องดนตรีและเวที แสง สี ครบชุดที่ถูกวางเด่นอยู่หน้าร้านป้ายชาญศิลป์แห่งนี้มาได้อย่างไร...มันเกิดจากความคลั่งไคล้ล้วนๆ

     ตอนนี้ผมอยากจะวางมือจากงานป้าย แล้วมาทุ่มเทให้กับการทำเครื่องดนตรีจิ๋วอย่างเดียวและผมยังมีแผนที่จะเปิดเว็ปไซต์ของผลิตภัณฑ์ตัวนี้ด้วย เพราะผมไม่ได้มองตลาดแค่ในประเทศ ผมมองไปที่ตลาดต่างประเทศมากกว่า เพราะคนไทยที่จะยอมเสียสตางค์ให้กับงานศิลปะแบบนี้คงมีไม่มากและถ้าให้ผมเทียบงานของเรากับของเมืองนอกนะ ผมว่าเราสู้เขาได้สบายเขาบอกเราถึงแผนการสำหรับวันข้างหน้า นายช่างยังมองต่อไปอีกว่าควรจะหาลูกมือสำหรับแผนธุรกิจที่วางไว้ หากแต่จะเปิดโอกาสให้สำหรับคนที่ตั้งใจจริงเท่านั้นเพราะ งานแบบนี้ไม่ใช่ของง่ายๆเขาย้ำกับเราอีกหน

     ตอนนี้ผมกำลังคิดทำโลโก้อยู่ จากของเดิมคือ สตาร์โมเดล (Star Model) เพราะผมจดลิขสิทธิ์ไม่ได้ ทางการบอกว่ามันมีคำว่าโมเดล เพราะคำว่าโมเดลหมายถึงของเดิมเขามีอยู่แล้ว เรามาย่อส่วนมัน เขาไม่ให้ผมจด ผมก็เลยพยายามออกแบบทั้งชื่อทั้งโลโก้ใหม่ๆ อยู่

     เรานั่งคุยสัพเพเหระกันอีกเล็กน้อย พร้อมกับที่คุณชาญชี้ชวนให้เราดูชิ้นงานของเขาอย่างพินิจ สิ่งเดียวที่กีต้าร์จิ๋วเหล่านี้ไม่อาจทำได้คือการเปล่งเสียง แต่รูปลักษณ์ของมันไม่ได้แตกต่างกันเลยกับกีต้าร์ราคาแพงระยับ ที่นักกีฬาระดับโลกใช้แสดงคอนเสริ์ต กลองอีกลายชุด กีตาร์เบส แอมป์พลิฟายเออร์ และคีย์บอร์ดไฟฟ้า เมื่อตั้งรวมกันอยู่บนเวทีคอนเสริ์ตจำลองที่ประดับแสงสีจนเหมือนจริง ซึ่งนายช่างคนเดียวกันนี้เนรมิตรขึ้นมา เราก็แทบจะได้ยินเสียงดนตรีดังกระหึ่มเข้าหูเลยทีเดียว ซึ่งทั้งหมดนั้นแสดงถึงความใส่ใจในรายละเอียด ฝีมือ และสมาชิกของผู้สร้างสรรค์พวกมันขึ้นมาด้วย

     ในช่วงเวลาหนึ่งเราไม่เข้าใจว่าเสน่ห์ของสิ่งของย่อส่วนเหล่านี้มันอยู่ตรงที่ใด เหตุใดใครต่อใครจากหลากหลายมุมโลกจึงพยายามคิดสร้างมัน หรือหามันมาไว้ในครอบครอง กระทั่งวันที่ได้มีโอกาสมานั่งตรงหน้าผู้สร้างสรรค์ผลงาน และสัมผัสถึงวิญญาณ และเนื้อแท้ของงานแต่ละชิ้นที่ตะโกนบอกความหมายในตัวมันเอง

 

 

ร้านชาญศิลป์โทร. 089-8247234

Visitors: 64,073