ชาญ สังข์ทอง เครื่องดนตรีจิ๋ว
ชาญ สังข์ทอง เครื่องดนตรีจิ๋ว
ชาญ สังข์ทอง เป็นชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พ่อเป็นช่างไฟฟ้าประจำโรงไฟฟ้าอำเภอบางพลี ส่วนแม่นั้นเป็นชาวนา เขาเป็นลูกคนที่ 5 จากพี่น้อง 10 คน
“ผมเรียนมาทางศิลปะ” เขาบอกกับเรา เมื่อถูกถามถึงเส้นทางสู่อาชีพช่างทำป้าย “ผมจบมศ.3 แล้วไปต่อที่อาชีวะศิลป์ ไปด้วยใจรัก ด้วยความชอบงานศิลปะ อย่างตอนที่เรียนอยู่มัธยม ผมก็ไปช่วยงานโรงเรียนเสมอๆนะ เวลามีงานประกวดศิลปะ ครั้งหนึ่งมีการประกวดงานศิลป์ระดับจังหวัด ผมก็ไปช่วยโรงเรียนตกแต่งประดับเรือ ปีนั้นโรงเรียนผมชนะด้วยนะ เรียนอยู่ 3 ปีจนจบ ปวช. ก็ออกมาทำงานเลย ทั้งๆที่ตอนแรกคิดว่าจะไปเรียนต่อที่เพาะช่าง”
เขาเล่าต่อไปว่า “ผมตั้งใจไว้อยู่แล้วว่าอยากทำงานป้าย อยากเปิดร้านเขียนป้าย ออกแบบป้ายร้านตัวเองไว้ตั้งแต่ยังไม่มีร้านเลย ” นายช่างผู้คร่ำหวอดในวงการป้ายมามากกว่า 20 ปี เล่าให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม เมื่อรำลึกถึงครั้งที่ร้านป้ายยังเป็นแค่ความฝัน
“จริงๆแล้วที่เรียนมา ไม่ค่อยได้ใช้กับงานป้ายเท่าไหร่ ตอนเรียนไม่มีสอนนะการเขียนตัวอักษรเนี่ย ต้องมาฝึกเอง พอจบช่างศิลป์ผมก็มาหัดเขียนป้าย เริ่มจากเขียนด้วยปากกาปากแบนก่อน จนกระทั่งเขียนได้เราก็เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ จนเขียนได้ จำได้ทุกแบบ แต่ระยะหลังนี่ก็ไม่ได้ใช้เท่าไหร่เพราะมีคอมพิวเตอร์มาช่วยทำแทนแล้ว”
“จากนั้นก็หาที่เปิดร้าน ผมก็มาดูที่ศรีราชาที่แรกเลย จนตกลงได้เช่าตึกโดยหุ้นกับรุ่นพี่อีกคนหนึ่ง เป็นห้องแถวห้องเดียวอยู่ตรงข้ามร้านศูนย์นักเรียน” ช่างชาญเล่าถึงเหตุผลที่ย้ายมาอยู่ศรีราชา “อยู่ได้ 2 ปี ผมก็นึกอยากจะเปิดร้านของตัวเอง จึงออกมาเช่าตึกอยู่ตรงร้านปัจจุบัน จนตอนนี้ก็ 22 ปีแล้ว ตอนนี้ผมจึงพูดได้เต็มปากว่าผมเป็นคนศรีราชา”
เริ่มต้นทำเครื่องดนตรีจิ๋ว
“สมัยเรียนปวช. เวลาเพื่อนๆไปดูคอนเสริ์ตกัน ไปตีกัน ผมมักจะหลบไปเล่นดนตรีกับกลุ่มของน้องชาย นอกจากจะเล่นแล้วผมยังรู้สึกหลงใหลในเครื่องดนตรีด้วย ผมชอบที่จะดูว่ามันประกอบอย่างไร มีชิ้นส่วนอะไรบ้าง ผมจะมีหนังสือเกี่ยวกับการประกอบเครื่องดนตรีอยู่เล่มหนึ่ง ก็อาศัยดูแบบจากในหนังสือเล่มนี้” เขาเล่าพร้อมกับลุกขึ้นหาหนังสือเล่มที่ว่ามาให้เราดูมันดูไม่เก่ามากนัก แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในการเก็บรักษา ภายในเล่มบอกรายละเอียดการประกอบเครื่องดนตรีโดยเฉพาะกลองไว้อย่างครบถ้วน
“กระทั่งปี 2548 น้องชายผมก็เอากลองกระดาษที่ทำขึ้นเองมาให้ผมชุดหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่ได้สนใจมันเลย เอาวางไว้หลังทีวีจนฝุ่นจับเต็มไปหมด พอจะเอามาทำความสะอาดปรากฎว่าทำไม่ได้ เช็ดปัดไม่ได้เลย เพราะงานมันจะพัง ผมก็เลยมานั่งคิดว่าเราจะทำให้งานชิ้นนี้มันแข็งแรงขึ้นได้อย่างไร เลยทำให้เกิดไอเดียที่จะนำเศษวัสดุที่เหลือจากงานป้าย เช่น เศษพลาสติก เศษอะครีลิค พวกนี้แพงนะ ซื้อมาแผ่นหนึ่งตั้งเกือบๆ 2,000 บาท แต่พอเหลือเศษเอาไปชั่งกิโลขายได้กิโลละ 6 บาทเท่านั้นเอง”
“ตอนทำครั้งแรกก็ทำมาโชว์เฉยๆ มาทำออกขายเมื่อปี 50 เพราะว่าตอนปี 49 ผมใช้เวลาทั้งปีเลยสำหรับการปรับปรุงผลงานให้เหมือนจริงมากที่สุด จนได้งานออกมาเรียกว่าเกือบสมบรูณ์เลย ช่วงนั้นพี่อู๊ด จักกะพาก มาเห็นงานของผม แกก็ชอบเลยสนับสนุน หวังว่าจะทำให้เป็นของฝากของศรีราชาได้ เลยให้ไปจัดโชว์ที่งานกองข้าว ได้รับความสนใจมากจริงๆ แต่พี่อู๊ดบอกผมไว้ว่ายังไม่ให้ขายของ ให้โชว์อย่างเดียวเป็นการเปิดตัว ทั้งๆที่ใจผมอยากขายนะ (หัวเราะ) หลังจากจบงานกองข้าว ผมก็ให้น้องชายไปโพสต์ขายในพันทิปมาร์เก็ต (www.pantip.com) แค่ 1 สัปดาห์ มีคนโทรมาสั่งจองจนผมทำไม่ทันเลย ทำให้เสียงานป้าย ผมต้องบอกให้น้องชายยกเลิกการขายในเว็บไปก่อน หลังจากนั้นผมก็จับงานตรงนี้จริงๆจังๆเลย ทำเก็บสต๊อคเอาไว้ ใครโทรมาสั่งก็ส่งของให้ได้ทันทีเลย” เขาเล่าอย่างออกรส ความภูมิใจฉายชัดผ่านน้ำเสียง
“หลังงานกองข้าวไม่นานก็มีรายการทีวีติดต่อเข้ามาขอสัมภาษณ์ คือ รายการสยามทูเดย์ จากช่อง 5, รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง จากช่อง 3และรายการท่องเที่ยวทั่วไทย จากช่อง 7หลังจากจบรายการสยามทูเดย์ ก็มีโทรศัพท์หาผมทันทีเลย หลายสายมาก ผมได้คุยแค่สามสี่สายเท่านั้นเอง ที่ประทับใจผมก็คือ มีคุณป้าคนหนึ่ง เป็นคนบ้านเรานี่เอง(ศรีราชา) ซึ่งคุณป้าคนนี้แกชอบสะสมของจิ๋ว บ้านอยู่ในซอยโรงเจ ในบ้านแกจะมีแต่ของพวกนี้เต็มไปหมด ทั้งของไทย ของนอก พอรู้ข่าวแกก็มาหาผมตั้งแต่เช้าเลยนะ มาซื้อไปเลยทั้งชุด แกบอกว่าไม่เคยรู้เลยว่ามีของจิ๋วอยู่ใกล้ๆบ้านแก” เขากล่าว
จุดเริ่มต้นจากกลองกระดาษ มาถึงกลองจากเศษพลาสติกทำมือ ขั้นต่อไปก็คือทำให้ครบองค์ประกอบของวงดนตรี “เมื่อทำกลองได้แล้ว ก็รู้สึกว่ามันน่าจะมีเครื่องดนตรีให้ครบทั้งวง ผมเลยเริ่มมองหาแบบ ก็จากหนังสือบ้างของจริงบ้าง มีทั้งกีตาร์ คีย์บอร์ด ตู้แอมป์”
“นอกจากนี้ผมก็สนใจเรื่องการจัดเวที การจัดไฟต่างๆด้วย สมัยวัยรุ่นนี่ ถ้ามีคอนเสริ์ตผมจะไปนั่งเฝ้าตั้งแต่เขาเริ่มตั้งเวทีกันเลยนะ” เมื่อได้ฟังถึงตรงนี้ เราไม่แปลกใจอีกแล้วว่า เครื่องดนตรีและเวที แสง สี ครบชุดที่ถูกวางเด่นอยู่หน้าร้านป้ายชาญศิลป์แห่งนี้มาได้อย่างไร...มันเกิดจากความคลั่งไคล้ล้วนๆ
“ตอนนี้ผมอยากจะวางมือจากงานป้าย แล้วมาทุ่มเทให้กับการทำเครื่องดนตรีจิ๋วอย่างเดียว และผมยังมีแผนที่จะเปิดเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์ตัวนี้ด้วย เพราะผมไม่ได้มองตลาดแค่ในประเทศนะ ผมมองไปที่ตลาดต่างประเทศมากกว่า เพราะคนไทยที่จะยอมเสียสตางค์ให้กับงานศิลปะแบบนี้คงมีไม่มาก และถ้าให้ผมเทียบงานของเรากับของเมืองนอกนะ ผมว่าเราสู้เขาได้สบาย” เขาบอกเราถึงแผนการสำหรับวันข้างหน้า นายช่างยังมองต่อไปอีกว่าควรจะหาลูกมือสำหรับแผนธุรกิจที่วางไว้ หากแต่จะเปิดโอกาสให้สำหรับคนที่ตั้งใจจริงเท่านั้นเพราะ “งานแบบนี้ไม่ใช่ของง่าย” เขาย้ำกับเราอีกหน
“ตอนนี้ผมกำลังคิดทำโลโก้อยู่ จากของเดิมคือ สตาร์โมเดล (Star Model) เพราะผมจดลิขสิทธิ์ไมได้ ทางการบอกว่ามันมีคำว่าโมเดล เพราะคำว่าโมเดลหมายถึงของเดิมเขามีอยู่แล้ว เรามาย่อส่วนมัน เขาไม่ให้ผมจด ผมก็เลยพยายามออกแบบทั้งชื่อทั้งโลโก้ใหม่ๆอยู่”
เรานั่งคุยสัพเพเหระกันอีกเล็กน้อย พร้อมกับที่คุณชาญชี้ชวนให้เราดูชิ้นงานของเขาอย่างพินิจ สิ่งเดียวที่กีตาร์จิ๋วเหล่านี้ไม่อาจทำได้คือการเปล่งเสียง แต่รูปลักษณ์ของมันไม่ได้แตกต่างกันเลยกับกีตาร์ราคาแพงระยับ ที่นักกีตาร์ระดับโลกใช้แสดงคอนเสริ์ต กลองอีกหลายชุด กีตาร์เบส แอมป์พลิฟายเออร์ และคียบอร์ดไฟฟ้า เมื่อตั้งรวมกันอยู่บนเวทีคอนเสริ์ตจำลองที่ประดับแสงสีจนเหมือนจริง ซึ่งนายช่างคนเดียวกันนี้เนรมิตขึ้นมา เราก็แทบจะได้ยินเสียงดนตรีดังกระหึ่มเข้าหูเลยทีเดียว ซึ่งทั้งหมดนั้นแสดงถึงความใส่ใจในรายละเอียด ฝีมือ และสมาธิของผู้สร้างสรรค์พวกมันขึ้นมาด้วย
ในช่วงเวลาหนึ่งเราไม่เข้าใจว่า เสน่ห์ของสิ่งของย่อส่วนเหล่านี้มันอยู่ตรงที่ใด เหตุใดใครต่อใครจากหลากหลายมุมโลกจึงพยายามคิดสร้างมัน หรือหามันมาไว้ในครอบครอง กระทั่งวันที่ได้มีโอกาสมานั่งตรงหน้าผู้สร้างสรรค์ผลงาน และสัมผัสถึงวิญญาณ และเนื้อแท้ของงานแต่ละชิ้นที่ตะโกนบอกความหมายในตัวมันเอง
ร้านชาญศิลป์ โทร. 038-310800, 089-8247234