> บริษัทศรีมหาราชา

บริษัทศรีมหาราชา 

            แต่เดิมบริษัทศรีมหาราชา ใช้ชื่อว่า “บริษัทศรีราชาทุนจำกัด” โดยท่านจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นผู้ก่อตั้ง สถานที่ตั้งโรงเลื่อยครั้งแรกตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2443 โดยสร้างขึ้นที่บ้านเดิมของท่านเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ปัจจุบันเป็นที่ตั้งตลาดเทศบาล

            เมื่อปี พ.ศ.2446 ได้ย้ายโรงเลื่อยมาสร้างใหม่ที่บริเวณตึกริมถนนเจิมจอมพล สุดรั้วบริเวณสำนักงานบริษัทศรีมหาราชา (ปัจจุบันคือบริเวณทางแยกตรงข้ามร้านตำโชว์ – บก.) ด้านทิศใต้คือบริเวณต้นโพธิ์ใหญ่ๆ ตรงข้ามธนาคารกรุงเทพฯ สาขาถนนเจิมจอมพล

            ในปี พ.ศ.2451 ได้ย้ายโรงเลื่อยจากที่เดิมขยับขึ้นไปทางด้านทิศตะวันออก ด้านตะวันออกติดถนนสุขุมวิท และทิศตะวันตกติดถนนเจิมจอมพล โดยอยู่ที่นี่มาจนกระทั่งกลายเป็นบริษัทศรีมหาราชาและปัจจุบันเป็นโครงการศรีราชานครไปในที่สุด

            สำหรับประวัติการก่อตั้งนั้น จากหนังสือประวัติของท่านเจ้าพระยาสุรศักดิ์ (จากนี้จะเรียกท่านเจ้าคุณ) ได้ขายที่ดินที่ตำบลบางรัก เมื่อ พ.ศ. 2443 ได้ประมาณ 100 ไร่เศษ และที่ดินบริเวณถนนรองเมืองอีก 100 ไร่ เพื่อนำเงินมาลงทุนตั้งบริษัททำไม้กับหลวงอุดร นายห้างกิมเซ่งหลี

            ในระหว่างออกปราบพวกเงี้ยว ท่านเจ้าคุณมอบหมายให้ห้างกิมเช่งหลีดูแลกิจการป่าไม้แทน เมื่อกลับมาจากทัพ ทางห้างได้ตั้งบัญชีว่าได้จ่ายเงินไป 750,000 บาท โดยไม่มีรายละเอียดการใช้จ่าย ท่านเจ้าคุณจึงได้ต่อว่าไป ทางห้างจึงยอมลดให้สองแสนบาท เหลือ 550,000 บาท ท่านเจ้าคุณจะฟ้องร้องเอาความก็เห็นแก่หลวงอุดร จึงยอมชดใช้เงินนั้นให้กับห้างกิมเช่งหลี จึงขอใช้ที่ดินที่ตำบลศาลาแดงชดใช้ให้แทนเงิน และได้ถวายที่ดิน 25 ไร่ พร้อมตึกบ้านพักพระประมวญและที่นาที่คลองรังสิตอีก 1,000 ไร่ ถวายใช้หนี้พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ด้วยสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าประทับรักษาพระวรกายฟื้นฟูสุขภาพอยู่ที่ศรีราชาในขณะที่ท่านเจ้าคุณลงมือทำป่าไม้ จึงมีพระเมตตาให้ท่านเจ้าคุณยืมเงิน 200,000 บาท และได้ถวายดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ต่อมาเจ้าคุณได้ขอพระกรุณาโอนหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้พระคลังข้างที่ จึงได้ถวายที่ดินดังกล่าวปลดหนี้ไป

               

            31 ธันวาคม พ.ศ.2451 บริษัทบอร์เนียวจำกัดสินใช้ ได้มาขอเข้าหุ้น โดยร่วมลงทุนทำการเป็นเงินหนึ่งล้านเจ็ดแสนบาท แต่ไม่ได้แบ่งผลประโยชน์ให้บริษัทศรีราชาฯ เลย ครั้นวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2456 ยังได้ทำการฟ้องบริษัทศรีราชาฯ ว่า เป็นหนี้อยู่อีก 500,000 บาทเศษ หากไม่สามารถชำระได้ภายใน 1 เดือน ขอให้ศาลบังคับให้ล้มละลาย

            บริษัทศรีมหาราชาได้สู้คดีจนถึงศาลฎีกาและชนะคดี แล้วฟ้องกลับว่าบริษัทบอร์เนียวฯ ผิดสัญญาโดยเรียกค่าเสียหายจากทุนทรัพย์และประโยชน์ที่ควรจะได้เป็นเงินสองล้านเจ็ดแสนบาท บริษัทบอร์เนียวยอมคืนบริษัทศรีราชาให้ โดยขอให้บริษัทศรีราชาฯ ให้เงินบริษัทบอร์เนียวอีก 300,000 บาท จากนั้นจึงโอนกรรมสิทธิ์ให้บริษัทศรีราชาเป็นเจ้าของกิจการแต่เพียงผู้เดียว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2456

            กิจการทำไม้ของบริษัทศรีราชาทุนจำกัด เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น แต่เดิมไม้ตะเคียน ไม้ขัน ไม้ชุมแพรก เป็นไม้ที่ไม่ได้รับความนิยม ยิ่งพวกไม้ยาง หรือไม้สะท้อนเขาเรียกกันว่าไม้สิงคโปร์ ราคาถูกมาก ขายได้พอค่าโสหุ้ย แต่นานวันชื่อเสียงของบริษัทศรีราชายิ่งโด่งดังจนคนที่เคยเรียกไม้สิงคโปร์หันมาเรียกไม้ศรีราชาแทน

            ในสมัยพระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ท่านเจ้าคุณได้โอนกิจการทั้งหมดเป็นของพระคลังข้างที่ ต่อมาในวันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ. 2475 ท่านเจ้าคุณก็ถึงแก่อสัญกรรม

            ปี พ.ศ. 2476 เกิดอัคคีภัยเผาผลาญโรงเลื่อยของบริษัทศรีราชาพินาศลง กิจการของบริษัทได้สะดุดลงชั่วขณะหนึ่ง กระทั่งปี พ.ศ.2477 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฎ์ เป็นองค์อำนวยการบริหารกิจการนี้แทนพระคลังข้างที่ ได้โปรดเกล้าให้พระยามไหสวรรย์มาริเริ่มสร้างโรงเลื่อยขึ้นใหม่ในที่เดิม

            จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเลื่อยศรีราชาจึงตกอยู่ในความคุ้มครองของทางราชการทหารกระทั่งสิ้นสงคราม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ซื้อกิจการโรงเลื่อยศรีราชาทั้งหมดในปลายปี พ.ศ. 2489 และปรับปรุงสภาพในหลายด้าน โดยตั้งชื่อใหม่ว่า “บริษัทศรีมหาราชา จำกัด” และทำพิธีเปิดป้ายเมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ.2490

            โรงเลื่อยแห่งนี้ทำการผลิตไม้แปรรูปได้เดือนละ 600-700 ต้น ในขณะนั้นค่าใช้จ่ายยังต่ำ ทำให้ยังคงได้กำไรในการขยายงาน และนอกจากจะขายดีในจังหวัดพระนคร และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ระยะนี้ (พ.ศ.2490-2495) จังหวัดไกลๆ เช่น สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ นิยมขอรับจำหน่ายไม้จากโรงเลื่อยศรีราชากันมาก การขนส่งโดยมากจะขนส่งทางเรือ โดยบรรทุกรถไฟขนมาลงเรือที่สะพานเกาะลอย

            นอกจากสะพานรถไฟเพื่อขนส่งไม้แปรรูปที่เกาะลอยแล้ว บริษัทยังสร้างทางรถไฟเข้าไปขนไม้ในป่าสัมปทาน เส้นทางผ่านไร่กล้วย หนองค้อ หุบบอน เขาคันทรง บ้านระเวิง ไปจนถึงเขตอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง รวมความยาวประมาณ 51.775 กิโลเมตร โดยมีทั้งหมด 7 สถานี

            จน 14 เมษายน พ.ศ.2501 ได้เริ่มเปิดบริษัทไม้อัดศรีราชาจำกัดขึ้นในบริเวณติดต่อกัน ผลิตไม้อัดเชฟวิ่งบอร์ด พินิชชิ่งไลน์ (ทีโกบอร์ด) และโรงงานในลักษณะบอร์ดต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก ต่อมาในปี พ.ศ.2507 คณะกรรมการได้กำหนดให้ 2 บริษัทใช้ทุนร่วมกัน และเพิ่มทุนจดทะเบียนนิติกรรมใหม่ รวมคณะกรรมการบริหารเป็นชุดเดียวกัน

            สมัยที่กิจการรุ่งเรือง เมื่อถึงฤดูทำบุญทอดกฐิน บริษัทศรีมหาราชาได้จัดงานประเพณี มีมหรสพให้ชมเกือบทุกชนิด ส่วนสำคัญและเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไปคือ การแข่งขันกีฬาภายในของคนงานกองต่างๆ ของบริษัท และมีการแข่งขันกีฬาทางน้ำ มีเรือใบสมัยเก่ามาแล่นแข่งกันที่หน้าเกาะลอย

            ประมาณ ปี พ.ศ.2510 เป็นต้นมา การบริหารงานภายในบริษัทศรีมหาราชาล้มเหลว ประสบภาวะขาดทุนโดยตลอด ในปี พ.ศ. 2527 บริษัทศรีมหาราชาจึงได้ปลดคนงานออกคราวเดียวถึง 592 คน โดยให้ทีมงานของบริษัทปูนซีเมนต์ไทยซึ่งเป็นบริษัทในเครือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาบริหารงานแทน โดยตั้งบริษัทขึ้นใหม่ชื่อ บริษัทไทยนวภัณฑ์ จำกัด เว้นแต่โรงงานที่นอนสายรุ้งที่ยังขึ้นกับบริษัทศรีมหาราชาดังเดิม

            จากนั้นระยะหนึ่ง หนี้สินสะสมของบริษัทศรีมหาราชาเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ ในที่สุดสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงจำเป็นต้องขายที่ดินของบริษัทศรีมหาราชาทั้งหมดประมาณ 140 ไร่ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้สะสมประมาณ 200 ล้านบาท ส่วนที่ดินของบริษัทศรีมหาราชาได้ขายให้กับบริษัทศรีราชาคอมเพล็กซ์ จำกัด ด้วยราคาประมาณ 400 ล้านบาท และต่อมาบริษัทศรีราชาคอมเพล็กซ์ได้ขายต่อให้กับ 9 บริษัท ในเครือธนาคารศรีนคร และปรับปรุงที่ดินเป็นโครงการศรีราชานครจนกระทั่งทุกวันนี้

Visitors: 68,655