โรงเรียนดาราสมุทร

โรงเรียนสแตลลา มารีส / ดาราสมุทร ยุค ๒๔๗๗ – ๒๕๐๘

     ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ คุณยอห์นและคุณอลิซ ลาร์สันต์ สองสามีภรรยา (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นคุณประยูร และคุณมณี สิริสันต์ ) ได้ย้ายมาประกอบกิจการอยู่ศรีราชา ทางภราดาคณะเซนต์คาเบรียลจากกรุงเทพฯ จึงได้ฝากบ้านพักตากอากาศที่ศรีราชา ชื่อว่า " วิลลา สแตลลา มารีส " (บริเวณ ร.ร.อัสสัมชัญศรีราชาปัจจุบัน) ให้ดูแลต่อจากนายคาเบรียล ดิบบ์ (พี่เขยของคุณอลิซ)

     เมื่อมาอยู่ศรีราชาได้ ๒ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๗) ก็รู้จักมักคุ้นกับคนในละแวกนี้ ชาวบ้านเมื่อรู้ว่าคุณอลิซเคยเป็นครูที่ ร.ร.อัสสัมชัญคอนแวนต์ จึงพาลูกหลานมาฝากให้ช่วยสอนหนังสือ  ในช่วงแรกมีเด็กมาเรียน ๗ คน ก็สอนหัดอ่านเขียนรวมๆกันไป คุณยอห์นก็มาช่วยสอนยามว่างด้วย ในปีพ.ศ. ๒๔๗๗ ชาวศรีราชา ได้แสดงเจตจำนงให้ภราดาไมเคิล อธิการ ร.ร.อัสสัมชัญกรุงเทพฯ (ซึ่งมาพักร้อนที่บ้านพักศรีราชา) สร้างโรงเรียนขึ้น ท่านจึงหารือกับคุณยอห์น และคุณอลิซ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ คุณยอห์นจึงยื่นหนังสือขอจัดตั้งโรงเรียน และได้รับอนุญาต  เป็นทางการ เมื่อวันที่ ๓๐ พ.ย. ๒๔๗๙ ตั้งชื่อตามบ้านพักว่า “โรงเรียนสแตลลา มารีส” มีครูใหญ่คนแรกคือนายสมอง งามศรี คุณยอห์น (ประยูร สิริสันต์) เป็นเจ้าของและผู้จัดการโรงเรียน คุณอลิซเป็นครูประจำ ขณะนั้นมีนักเรียน ๒๕ คน

     โรงเรียนสแตลลา มารีส ถือเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกใน อ.ศรีราชา เปิดสอนชั้นป.๑– ป.๔ เน้นวิชาภาษาอังกฤษ นักเรียนที่จบสแตลลามารีสจึงเก่งภาษาอังกฤษทุกคน

     เนื่องจากกรณีพิพาทอินโดจีน (พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๘๔) รัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงครามได้ประกาศนโยบายชาตินิยม มีการรณรงค์ให้นิยมไทย คุณยอห์น จึงได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนสแตลลามารีส เป็นโรงเรียนดาราสมุทร ได้รับอนุญาตเป็นทางการ วันที่ ๒๑ พ.ค. ๒๔๘๔  

     ปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ ๒๔๘๕-๒๔๘๖) กรุงเทพฯถูกทิ้งระเบิดอย่างหนัก ทางการจึงสั่งปิดโรงเรียน คณะภราดาเซนต์คาเบรียลอพยพนักเรียนบางส่วนมาเปิดสอนที่วิลล่าสแตลลา มารีส คุณยอห์นจึงได้ติดต่อคุณพ่อที่บ้านเณรพระหฤทัยศรีราชา ขอย้ายนักเรียนไปเรียนที่อาคารไม้หลังบ้านเณร จนในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ คุณยอห์นได้โอนกิจการโรงเรียนดาราสมุทรให้กับมิสซังจันทบุรี โดยมี คุณพ่อสงวน สุวรรณศรี เป็นผู้รับมอบโรงเรียน

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

• พ.ศ. ๒๔๘๙ มีการสร้างวัดพระหฤทัยศรีราชา เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น ชั้นบนใช้เป็นวัด ชั้นล่างใช้เป็นโรงเรียน

• พ.ศ. ๒๔๙๔ นายฮั่วเซี้ยง กิจบุญชู   ครูใหญ่/ผู้จัดการ(ปัจจุบันคือ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู)ได้สร้างอาคารถาวรหลังแรก เป็นเรือนไม้ทรงปั้นหยา ๒ ชั้น ๕ ห้องเรียน

• พ.ศ. ๒๔๙๐ ยังเปิดสอนแค่ ม.๓(ป.๗) ประมาณปี ๒๕๐๐ จึงขยายเป็น ม.๔-๖  (ม.ศ.๑-๓) 

• พ.ศ. ๒๕๐๗ คุณพ่อแหวน ศิริโรจน์  ผู้จัดการโรงเรียนได้สร้างอาคารตึก ๓ ชั้น หลังแรกสำหรับนักเรียน มศ.๑-๓

• พ.ศ. ๒๕๐๘ เปิดรับครูผู้หญิงมาสอนเพิ่มและทดแทนมาสเตอร์ณร เช่น ครูอำพร  เรือนงาม ครูนงลักษณ์ สิริชัยเจริญกล

 

 

คุณค่าของอดีต ทำให้เราสุขใจ อิ่มเอม เมื่อได้ย้อนนึกถึง 
ชมรมคนรักศรีราชา อยากเห็นคุณค่าของอดีต อยู่ในใจคนศรีราชา 
เราจึงพยายามเก็บเรื่องราวที่มีคุณค่าเหล่านี้ ไม่ให้เลือนหายไป 
เพื่อให้ลูกหลานของเราได้เห็น ได้สัมผัส ได้ภูมิใจกับรากเหง้าของตนเอง

 

๑๒ โรงเรียนในปฏิทินชุดนี้เป็นการเริ่มต้น รวบรวมข้อมูลโรงเรียนเก่าของศรีราชา

ทางชมรมฯ จะติดตามสืบค้น และ update ข้อมูลในโอกาสต่อไป

Visitors: 63,812