สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

      สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

 

                  

       พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชสมภพแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405

      เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ก็มีพระสิริโฉมงดงาม จนมีคำกล่าวว่า "หน้าตาคมสันองค์สว่าง พูดจากระจัดกระจ่างองค์สุนันทา" พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ขณะที่มีพระชนม์ 16 พรรษาโดยมีพระองค์เจ้าหญิง พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4 รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้า ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

       พระภรรยาเจ้าทั้ง 4 พระองค์มีพระเกียรติยศเสมอกัน จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2423 พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ โดยเรือพระประเทียบล่มระหว่างโดยเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี พระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 5

       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ รัชกาลที่ 8 ทรงเฉลิมพระนามสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า(ย่า) และทรงดำรงพระอิสริยยศนี้จนตลอดพระชนมายุ

 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส  ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493

 

                                                    

 

พระราชโอรสและพระราชธิดา

       สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 10 พระองค์ พระราชโอรส 4 พระองค์ พระราชธิดา 4 พระองค์ ตกเสียก่อนเป็นพระองค์ 2 ดังต่อไปนี้

  • สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร(สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2437)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ (สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2422)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี(สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2436)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์(สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2442)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี(สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2481)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี(สิ้นพระชนม์ 2441)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์(สิ้นพระชนม์  พ.ศ. 2472)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง (ยังไม่ได้รับพระราชทานนาม) สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ 3 วัน(พ.ศ. 2436)

                                                                                                                                   

       นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงรับอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กำพร้าพระมารดาอีก 4 พระองค์ นั่นคือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหม่อมราชวงศ์เนื่อง สนิทวงศ์ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไล และพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพร้อม

       พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงษ์สนิท พระราชธิดาบุญธรรมที่มีความใกล้ชิดกับพระองค์มากที่สุด ซึ่งพระองค์ทรงหวังพระราชหฤทัยว่าจะฝากการพระบรมศพของพระองค์เองไว้ด้วย ก็ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2477

       สมเด็จฯ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระยศขณะนั้น) พระราชโอรสบุญธรรมถูกจับกุมตัวด้วยเหตุผลทางการเมือง และสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา เหลือเพียงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระราชธิดาบุญธรรมพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงพระชนม์อยู่จนได้ทรงเป็นองค์จัดการพระบรมศพสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยง ผู้ทรงอภิบาลดูแลพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นการสนองพระคุณสมเด็จฯ ในวาระที่สุดนี้

       การสิ้นพระชนม์ของพระโอรสและพรธิดาในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้พระองค์ทรงวิปโยคยิ่งนัก ทรงพระกันแสงอย่างหนักทำให้พระพลานามัยทรุดโทรมลง จนกระทั่งทรงพระประชวรในที่สุด

 

พระตำหนักศรีราชา

       พระตำหนักศรีราชาเป็นที่ประทับระหว่างพักฟื้นจากพระอาการประชวร เดิมเป็นพระตำหนักที่สร้างอยู่ริมทะเลต่อมาเมื่อพระตำหนักทรุดโทรมลง จึงทรงให้จัดสร้างพระตำหนักใหม่บริเวณเนินเขา และใน พ.ศ. 2486 กรุงเทพฯ ประสพภัยทางอากาศจากสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์จึงเสด็จมาประทับที่ตำหนักศรีราชาอีกระยะหนึ่ง ปัจจุบันพระตำหนักศรีราชา เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา

 

   

 

พระราชกรณียกิจ

       ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

       พระองค์ทรงสนับสนุนศิริราชพยาบาล ในปีพ.ศ. 2431 ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เรื่อยมาตราบจนพระองค์เสด็จสวรรคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสธิดาไปถึง 6 พระองค์ ส่งผลให้พระองค์ทรงพระประชวรและเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับรักษาพระองค์ที่พระตำหนักศรีราชา พระองค์ทรงให้จัดสร้างสถานพยาบาลขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า โรงพยาบาลสมเด็จ” ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และพระองค์ทรงริเริ่มหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อให้การรักษาแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกล และพระราชทานทุนส่งแพทย์พยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศเพื่อพัฒนาวงการแพทย์ไทยอย่างต่อเนื่อง

        ในปี พ.ศ. 2436 สภาอุณาโลมแดงได้เริ่มจัดตั้งขึ้น พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนี ในปี พ.ศ. 2463 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาพระองค์ที่ 2 หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สภานายิกาพระองค์แรก โดยพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนมากเพื่อบำรุงสภากาชาดไทย และตั้งกองทุนต่าง ๆ ในการส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศ เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญมาปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ

 

ด้านการศึกษา

        พระองค์ได้พระราชทานทรัพย์เพื่อบำรุงโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิเช่น โรงเรียนราชินี  โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนเจ้าฟ้าสร้าง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

 

ด้านการศาสนา

       สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสนพระราชหฤทัยพระพุทธศาสนาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ทรงอ่านพระไตรปิฏกฉบับทองใหญ่ ทรงศีลเป็นประจำในวันธรรมสวนะ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จัดพิมพ์อัฏฐกถาชาฎก 1 คัมภีร์ 10 เล่มสมุดพิมพ์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงอุทิศถวายสิ่งของต่างๆ แก่วัดปทุมวนาราม

       ใน พ.ศ. ๒๔๔๒ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี) ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระตำหนักศรีมหาราชา เพื่อพักฟื้นพระวรกายจากอาการประชวร จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี นิมนต์พระสงฆ์สังกัดนิกายธรรมยุตมาประจำที่ศรีราชา และจัดเสนาสนะที่เกาะลอยเพื่อเป็นที่พำนัก ในระยะแรกเสนาสนะที่เกาะลอยยังไม่แล้วเสร็จ คณะพระสงฆ์ธรรมยุตจึงจำพรรษาที่วัดศรีราชา (วัดศรีมหาราชาในปัจจุบัน) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนการปกครองเป็นวัดธรรมยุติกนิกายในอำเภอศรีราชาพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทานภัตตาหาร และถวายผ้าพระกฐินแด่คณะสงฆ์ที่วัดเกาะลอยอยู่เป็นนิจ จนกระทั่งพระองค์มิได้เสด็จฯ มาประทับที่ศรีราชาอีก

 

ด้านการหัตถกรรม

       พระองค์ ทรงสนพระทัยด้านหัตถกรรมคือด้านการทอผ้า ครั้งเสด็จมาประทับที่พระตำหนักศรีราชา ทรงเล็งเห็นว่างานทอผ้าในแถบหัวเมืองชายทะเลนั้นมีความงดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "หูกทอผ้าพื้นบ้าน" ขึ้น เมื่อเสด็จฯ กลับ กรุงเทพฯ  ก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองทอผ้าขนาดย่อม โดยผ้าที่ทอโปรดให้นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปด้วยการทอผ้าที่พระตำหนักสวนหงส์ วังสวนดุสิตนี้ ทรงทำมาโดยตลอดตราบจนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงเลิกไป

 

ด้านการเกษตร

        ทรงจัดให้มีโรงสีข้าวในที่ต่างๆ เช่น โรงจักรสีข้าวถนนเจริญกรุง  ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยโปรดให้คนเช่าดำเนินการ รวมทั้งยังโปรดให้ปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดภายในวังสระปทุมอีกด้วย นอกจากนั้น ยังพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คนเช่าที่ดินบริเวณโดยรอบของวังสระปทุมให้ปลูกผัก สวนดอกไม้ โดยคิดค่าเช่าที่ต่ำ

 

สวรรคต

         เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังวังสระปทุม คอยส่งเสด็จในวาระสุดท้าย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถวายบังคม "สมเด็จย่า" อยู่ที่เบื้องปลายพระบาทนั่นเอง สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จสวรรคตด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา 2.16 น. สิริพระชนมายุได้ 93 พรรษา 3 เดือน 7 วัน

 

อนุสรณ์สถาน

         โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เป็นโรงพยาบาลที่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงจัดสร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2445 ทางโรงพยาบาลได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ของพระองค์ขึ้นภายในโรงพยาบาล อาคารต่าง ๆ ได้รับพระราชทานนามตามพระนามของพระองค์ ได้แก่ ตึกพระพันวัสสา ตึกสว่างวัฒนา ตึกศรีสวรินทิรา ตึกบรมราชเทวี ตึกอัยยิกาเจ้า และตึกศรีสมเด็จ  ยังได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ ณ ตึกพระพันวัสสา เพื่อจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติ และเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระองค์

 

พิพิธภัณฑ์และมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า วังสระปทุม เป็นสถานที่สำคัญแห่งพระราชวงศ์ ด้วยเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ตราบจนเสด็จสวรรคต และเป็นที่ประทับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในเวลาต่อมา สมควรที่จะจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ แสดงพระราชกรณียกิจต่างๆ ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หลังจากที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงระลึกถึงพระราชปรารภแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงจัดการตั้งพิพิธภัณฑ์และมูลนิธิขึ้นสนองพระราชดำริและเพื่อเป็นแหล่งศึกษาพระราชกรณียกิจแห่งสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่ครบถ้วนและถูกต้อง  

 

อ้างอิง : จากเวปไซด์วิกิพีเดีย

เรียบเรียงโดย L  คุณผดุงพล ใสเหลี่ยม

 

Visitors: 63,812