สืบตำนานลำตัด “คณะพ่อผูก”

  

               

                 สืบตำนานลำตัด “คณะพ่อผูก”

          ลำตัดที่เป็นตำนานของจังหวัดชลบุรี

 

               

 

       ในบรรดาศิลปะการแสดงของไทยหลากหลายแขนงนั้น “ลำตัด” ถือเป็นการแสดงที่มีเสน่ห์ ด้วยลีลาการโต้คารมกลอนเชือดเฉือนกันระหว่างหญิงกับชาย มีเนื้อหาสนุกสนาน มีการเล่นคำให้ชวนขบคิด บางครั้งออกไปทางสองแง่สองง่าม บวกกับเสียงกลอนรำมะนาที่ปลุกเร้าอารมณ์ สร้างความบันเทิงเริงใจให้กับผู้ชมจนแทบไม่อยากลุกไปไหน

       ในอำเภอศรีราชาของเรามีลำตัดอยู่คณะหนึ่งที่มีอายุร่วม 70 ปี และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคตะวันออก ฝีมือการแสดงหน้าเวที ไม่แพ้ลำตัดคณะดังระดับประเทศ นั่นคือ “ลำตัดคณะพ่อผูก

       ผู้ก่อตั้งลำตัดคณะพ่อผูก คือ นายผูก เอกพจน์ เกิดประมาณ พ.ศ.2460 เป็นบุตรของพ่อพันธ์ แม่เคลือบ พ่อเพลงแม่เพลงฉ่อย นายผูกเล่นลำตัดมาตั้งแต่เป็นหนุ่ม ภรรยาชื่อนางชลด มีลูก 3 คน นายผูกเสียชีวิตเมื่อประมาณ พ.ศ. 2520 ลูกสาว ประพิมพ์ เอกพจน์ ยังสืบทอดตำนานของลำตัดคณะพ่อผูกมาจนทุกวันนี้

       ประพิมพ์ เอกพจน์ เกิดเมื่อ พ.ศ.2485 เป็นลูกสาวคนที่ 2 ของพ่อผูกแม่ชลด ย้อนอดีตให้ฟังว่า พ่อผูก เดิมเป็นคนกรุงเทพฯ เล่นลำตัดรุ่นเดียวกับ “หวังเต๊ะ” ราชาลำตัดของไทย ซึ่งทั้งคู่รู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี ในปี 2485 กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมใหญ่ พ่อผูกจึงพาภรรยาและลูกสาว 2 คน หนีน้ำท่วมมาอยู่ศรีราชา พ่อประยูรและแม่จรูญที่เป็นลำตัดก็ย้ายมาด้วยกัน และมาซื้อที่ทำไร่อยู่แถวๆ วัดนาพร้าวเก่า ตำบลสุรศักดิ์ และเล่นลำตัดไปด้วย

 

                     

 

       สมัยนั้นศรีราชาเป็นป่าชุดและเต็มไปด้วยไข้ป่า พ่อประยูรและแม่จรูญมิตรสหายของพ่อผูกกลัวไข้ป่า จึงย้ายกลับไปอยู่กรุงเทพฯ ซึ่งต่อมาทั้ง 2 ท่านเป็นลำตัดคณะดังของกรุงเทพฯ ส่วนพ่อผูกตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ที่ศรีราชาตั้งแต่นั้นมา

        ต่อมาพ่อผูกเลิกทำไร่ และย้ายเข้ามาอยู่ในตลาดศรีราชา เข้าทำงานในโรงเลื่อยศรีราชา เป็นคนงานโยนไม้ขึ้นรถไฟ แต่ยังรับเล่นลำตัดและลิเกด้วย

        สมัยก่อนลำตัดเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ มีงานเล่นประจำ งานวัดก็จัดกันหลายแห่งตลอดทั้งปี งานที่ลำตัดคณะพ่อผูกเล่นประจำคือ งานประจำปีจังหวัดชลบุรีหรืองานนมัสการพระพุทธสิหิงค์และงานกาชาด งานปิดทองหลวงพ่ออี๋ วัตสัตหีบและงานประจำปีวัดบึงบวรสถิตย์ อำเภอบ้านบึง เล่นกันคราวนึงเป็น 10 คืน ติดต่อกัน ต้องกินนอนกันอยุ่หลังเวที

                         

       ชื่อเสียงของลำตัดคณะพ่อผูกดังกระฉ่อน จึงถูกหาไปเล่นไม่เฉพาะในจังหวัดชลบุรีเท่านั้น ยังตระเวนเล่นทั่วภาคตะวันออก ตั้งแต่ ระยอง จันท์ฯ ถึงจังหวัดตราด ระหว่างรับงานพ่อผูกก็จะฝึกลูกศิษย์ไปด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง เช่น แม่เรไรกับแม่บำรุง มีชื่อเสียงโด่งดัง ตั้งคณะของตนเองชื่อคณะแม่ประยูร ด้วย่รูปร่างหน้าตาสะสวยและฝึปากการต่อบทต่อกลอนที่เฉียบคม จึงมีชื่อเสียงโด่งดัง คนเล่นในคณะของพ่อผูกเป็นลูกศิษย์และพรรคพวกลำตัดจากกรุงเทพฯ ซึ่งว่าจ้างมาร่วมคณะเป็นคราวๆ ไป

        ย้อนไปในวัยเด็ก แม่ประพิมพ์ เรียนที่โรงเรียนศรีราชาชลประสิทธิ์ หรือตะกาด ก็คือโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมหาราชาในปัจจุบัน จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่เรียนต่อ มาช่วยพ่อเล่นลำตัดเป็นอาชีพ พ่อผูกยังมีลูกชายอีกคนมาเกิดที่ศรีราชา ชื่อ ชุมพล  เอกพจน์ หรือ สีทอง ที่พ่อผูกอยากให้เรียนโรงเรียนนายเรือแต่พอจบมัธยมที่โรงเรียนศรีราชา สีทองก็มาเล่นลำตัดเจริญรอยตามพ่ออีกคน ส่วนพี่สาวแม่ประพิมพ์ไม่เป็นลำตัดและเสียชีวิตแล้ว

       แม่ประพิมพ์ เล่าว่าพ่อผูกเป็นคนลำตัดที่รูปงาม เรื่องคารมคมคายในการต่อบทต่อกลอนไม่ต้องพูดถึง ทำให้บรรดาแม่ยก สาวแก่แม่ม่ายติดกันเกรียว เรียกว่า คนกรุงเทพฯ รู้จักลำตัดหวังเต๊ะกับแม่ประยูรยังไง คนภาคตะวันออกก็รู้จักลำตัดคณะพ่อผูกแบบนั้น และถึงแม้ว่าลำตัดจะเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน แต่พ่อผูกก็สามารถสร้างครอบครัวได้เป็นหลักเป็นฐาน ซื้อที่ซื้อทางปลูกบ้านได้

        พ่อผูก เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 60 ปี ทายาทคือ แม่ประพิมพ์กับสีทอง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้จากพ่อ จึงสืบสานลำตัดคณะนี้ต่อมา พร้อมกับฝึกลูกหลานเล่นลำตัด เพื่อเป็นตัวตายตัวแทนในวันข้างหน้า แม้ว่าพ่อผูกจะเสียชีวิตแต่ชื่อเสียงของลำตัดคณะนี้ยังคงอยู่ และโด่งดังเป็นที่รู้จักมากขึ้น ถึงขนาด สีทอง ได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นศิลปินดีเด่น ของจังหวัดชลบุรีและภาคตะวันออกในสาขาศิลปการแสดงลำตัดอีกด้วย แต่น่าเสียดายสีทองมาเสียชีวิตลง คงเหลือแต่แม่ประพิมพ์ที่ต้องสืบสานลำตัดคณะพ่อผูกสืบมา

        แม่ประพิมพ์เล่าว่า ย้อนหลังไปเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน งานแสดงชุกมาก ทีทั้งงานวัดงานประจำปี งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ แทบไม่ได้นอนบ้าน ออกเล่นกันตลอดทั้งเดือน ซึ่งงานวัดสมัยก่อนจะมี ลำตัด ลิเก รำวง และสวนสนุกจำพวกชิงช้าสวรรค์และรถไต่ถัง คณะรำวงที่มีชื่อเสียงคือ เรียม ดาราน้อย กับรถไต่ถังของนายเปรื่อง เรืองนาม เจอกันแทบทุกงาน

        แต่มาตอนหลังเมื่อวงดนตรีลูกทุ่งได้รับความนิยมทั้ง ลำตัด และรำวง เริ่มถูกลืมไป ตามงานวัด งานประจำปี ไม่มีงานไปเล่นเหมือนเมื่อก่อน เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจ ส่วนคนเล่นลำตัด คนเก่าๆ ก็ล้มหายตายจากไป เด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยมีใครอยากจะสืบสาน ไปยึดอาชีพอื่นกันหมด

        แม่ประพิมพ์ ในวันนี้อายุเกือบเจ็ดสิบเอ็ดปีแล้ว แต่ยังรักที่จะเล่นลำตัด แต่งานมีไม่เยอะเหมือนเมื่อก่อน เดือนหนึ่งแค่ 2-3 งาน ตัวแสดงก็เป็นลูกหลาน ส่วนใหญ่คนบางพระ หนองขาม ห้วยกรุ จะมาว่าจ้างไปเล่นงานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ ช่วงสงกรานต์ งานจะเยอะหน่อย เพราะลูกหลานจะมาว่าจ้างไปเล่นงานทำบุญยกสังคายนา ให้กับบุพการีที่เสียชีวิตแล้วได้ดูกัน แม่ประพิมพ์ฝากไว้ว่า “ลำตัดคณะพ่อผูก ยังไม่เลิก ยังเล่นและยังรับงานอยู่ อยากอนุรักษ์เอาไว้ เพราะเป็นการแสดงที่มีเสน่ห์ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ๆ อยากให้ลองมาดู ถ้าได้ดูแล้วจะติดใจเพราะลำตัดพูดจาตลก ตัวแสดงช่างพูด ช่างเจรจา ได้ทั้งความสนุกสนานและความรู้เรื่องเจ้าบทเจ้ากลอน”

        นอกจากรับงานแสดงแล้ว แม่ประพิมพ์ยังรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนการเล่นลำตัดให้กับนิสิต คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แม่ประพิมพ์รู้สึกดีใจที่ยังมีเด็กรุ่นใหม่สนใจสืบสาน อยากฝากถึงผู้ใหญ่ให้ช่วยส่งเสริม สนับสนุน เรียกหาว่าจ้างให้ลำตัดได้คงอยู่คู่วิถีชีวิตชุมชน ถ้าไม่มีงานแสดงลำตัดก็อยุ่ไม่ได้ รุ่นเก่าจากไป ไม่มีรุ่นใหม่มาแทนก็หมด ทำให้ลำตัดนับวันยิ่งหาดูได้ยาก ท่านที่สนใจจะว่าจ้าง “ลำตัดคณะพ่อผูก” ไปเล่นในงานบุญ งานฉลองหรืองานรื่นเริงต่างๆ สามารถติดต่อแม่ประพิมพ์ที่บ้านในซอยลำตัดพ่อผูก จากแยกไฟแดงอัสสัมชัญ ซอยที่ 2 ซ้ายมือ

 

       การละเล่นพื้นบ้านที่คล้ายกัน

- เพลงฉ่อย    เป็นเพลงพื้นเมืองที่ไม่ทราบถิ่นกำเนิด เป็นการละเล่นที่แพร่หลายมากที่สุดอย่างหนึ่ง มีการเล่นกันอย่างกว้างขวาง ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบการร้อง มีแต่การปรบมือประกอบจังหวะอย่างเดียว ภายหลังมี “กรับ” ให้จังหวะ การแต่งตัว ชายหญิงนุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อคอไทย คอกลม มีผ้าขาวม้าคาดพุง  ฝ่ายหญิงมีสไบเฉียง

- เพลงอีแซว  เป็นเพลงประจำถิ่นจังหวัดสุพรรณบุรี มีอายุกว่า 100 ปี เดิมนิยมเล่นในลักษณะเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชาย-หญิง โดยใช้ภาษาเรียบง่าย ต่อมาจึงพัฒนาเป็นเพลงปฏิพากย์ ร้องโต้ตอบกัน และมีความยาวมากขึ้น เน้นความสนุกสนาน สามารถเล่นได้ทุกโอกา 

- จำอวด  คือการแสดงชนิดหนึ่งของไทย ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 อธิบายไว้ว่าคือ “การแสดงเป็นหมู่ โดยใช้ถ้อยคำชวนให้ตลกขบขัน” คาดว่าเลียนแบบการแสดงมาจากสวนคฤหัสถ์ เพราะมีเป็นชุด 5 คน อย่างเดียวกัน จะแตกต่างที่จำอวดจะลุกยืนเล่นได้

 

อ้างอิง    หนังสือพิมพ์ศรีราชา ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554 สมพล ยศฐาศักดิ์ บรรณาธิการ

      บทสัมภาษณ์ นางประพิมพ์ เอกพจน์ วันที่ 21 ตุลาคม 2556 สัมภาษณ์โดย อดิศักดิ์ ศิรานันท์ เรียบเรียงเพิ่มเติมและกราฟฟิคโดย ผดุงพล ใสเหลี่ยม (ปรับปรุงล่าสุด วันที่ 26     พฤศจิกายน 2556)

 

 

   

Visitors: 63,844