โรงเรียนวจนคาม / เซนต์ปอลคอนแวนต์

โรงเรียนวจนคาม / เซนต์ปอลคอนแวนต์

     ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงเรียนคอนแวนต์ของคณะภคิณีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตรแห่งประเทศไทยหยุดทำการสอน คณะภคินีรวมทั้งนักเรียนจำนวนหนึ่งจึงอพยพมาอยู่ที่ศรีราชา ณ บ้านพักติดทะเล ตรงข้ามเทศบาลศรีราชา (เดิมเป็นที่พักตากอากาศของคณะภคิณีมาพักผ่อนปีละ๑-๒ ครั้งช่วงปิดภาคเรียนเท่านั้น) และเปิดการสอนหนังสือที่นี่ รวมทั้งมีเด็กในพื้นที่ศรีราชามาเรียนด้วย เมื่อสงครามยุติ จึงจัดตั้งโรงเรียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ใช้ชื่อว่าโรงเรียนวจนคาม (บ้านแห่งคำสอนของพระเจ้า) มีอาคารเรือนไม้สองชั้น ๑ หลัง และชั้นเดียว ๑ หลัง เปิดสอนชั้นป.๑- ม.๖ มีทั้งนักเรียนประจำและไป - กลับ เป็นโรงเรียนหญิงล้วนโรงเรียนแรกและแห่งเดียวของศรีราชา

     ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะเทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล   เด็กๆ เรียกครูผู้สอน ผู้ดูแลว่า “มาเซอร์” มาจากภาษาฝรั่งเศส ใช้เรียกนักบวชหญิงมาเซอร์เคร่งครัดในเรื่องกิริยามารยาทมาก และด้วยความเข้มงวดนี่เองทำให้นักเรียนของวจนคาม-เซนต์ปอลคอนแวนต์ มีระเบียบ มารยาทงาม และบุคลิกภาพดี

    ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นถึง ๗๓๐ คน สถานที่เดิมคับแคบ และน้ำทะเลกัดเซาะกินพื้นที่ เจ้าคณะแขวงแมร์อันนาเดอ-เยซู จึงมาซื้อที่ดินที่ราบเชิงเขาเป็นป่ารก ๒๗ ไร่ (ที่ตั้งเซนต์ปอลคอนแวนต์ปัจจุบัน) ทำการถางและปรับพื้นที่เพื่อปลูกสร้างโรงเรียน วางศิลาฤกษ์วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๐๕ สร้างอาคารเรียนสองชั้น ๒ หลังและสี่ชั้น ๑ หลัง สร้างเสร็จวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๖ เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันฉลองนักบุญเปาโล เพื่อความเหมาะสมจึงได้ขออนุญาตเปลี่ยนชื่อใหม่จาก “วจนคาม” เป็น “เซนต์ปอลคอนแวนต์”

    ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นอกจากโรงเรียนได้สร้างเยาวชนที่มีความรู้ มีความสามารถด้านวิชาการแล้ว ยังมุ่งเน้นให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่ไปด้วย โดยจัดให้มีโครงการเพื่อผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ห้องเรียนจริยธรรมชุมชน ให้นักเรียนได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้แก่ผู้อื่น

ข้อมูลเพิ่มเติม

• ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมสมเด็จพระราชินีเสด็จเป็นการส่วนพระองค์ พ.ศ ๒๔๙๗

• บริหารโดยคณะภคิณีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตรแห่งประเทศไทยเป็นมูลนิธิเพื่อส่งเสริมการศึกษาในประเทศ

• คณะบริหารยุคแรก เซอร์คลารีส(น.ส.สว่าง ศิวะดิตถ์) ผู้รับใบอนุญาต เซอร์เอมิเลียน(น.ส.บุญล้อม ปานประดับ) อธิการิณี   พ.ศ. ๒๔๙๔-๒๕๐๐, เซอร์อากาธ ชุมแสง  (น.ส.อุไร ชุมแสง) พ.ศ.๒๔๙๔-๒๕๐๑

• พ.ศ. ๒๕๒๔ เริ่มเปิดสอนมัธยมปลาย

• ๒๕ ม.ค. ของทุกปี ถือเป็นวันเกิดโรงเรียน

 

 

 

คุณค่าของอดีต ทำให้เราสุขใจ อิ่มเอม เมื่อได้ย้อนนึกถึง 
ชมรมคนรักศรีราชา อยากเห็นคุณค่าของอดีต อยู่ในใจคนศรีราชา 
เราจึงพยายามเก็บเรื่องราวที่มีคุณค่าเหล่านี้ ไม่ให้เลือนหายไป 
เพื่อให้ลูกหลานของเราได้เห็น ได้สัมผัส ได้ภูมิใจกับรากเหง้าของตนเอง

 

๑๒ โรงเรียนในปฏิทินชุดนี้เป็นการเริ่มต้น รวบรวมข้อมูลโรงเรียนเก่าของศรีราชา

ทางชมรมฯ จะติดตามสืบค้น และ update ข้อมูลในโอกาสต่อไป

 

Visitors: 63,869