โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา

 

โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา พ.ศ. ๒๔๘๗-๒๕๐๓

          

      จากที่ดินแปลงเล็กๆ ๑๕ ไร่ ของนายโกดินโน นายช่างโรงเลื่อย บริษัท ศรีมหาราชา เมื่อนายโกดินโน่เสียชีวิต ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ภรรยาของนายโกดินโน จึงขอร้องภราดาไมเคิล ซึ่งเป็นอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญ(กรุงเทพฯ) ขณะนั้น ให้ช่วยอุปการะให้การศึกษาแก่บุตรธิดา โดยเสนอยกที่ดินดังกล่าวเป็นค่าตอบแทน ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๐ คณะภราดาเซนต์คาเบรียลได้สร้างเป็นบ้านพักตากอากาศ ใช้ชื่อว่า Villa Stella Maris สำหรับที่ดินถัดมาเนื้อที่ประมาณกว่า ๕๐๐ ไร่ เป็นที่ดินของบริษัทฝรั่งเศส ชื่อ เบรังเย ปลูกตะไคร้หอมแล้วปล่อยทิ้งร้างไว้ คณะภราดาเซนต์คาเบรียลจึงซื้อที่ดินมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ในราคา ๑,๐๐๐ บาท

      ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงเรียนอัสสัมชัญ (บางรัก) ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดอย่างหนัก จึงปิดการเรียนการสอนชั่วคราว ปลายปี พ.ศ.๒๔๘๕ คณะภราดาได้มอบหมายให้ภราดาเทโอฟาน (ชิน บุญยานันทน์) อพยพนักเรียนส่วนหนึ่ง มาเปิดสอนที่ศรีราชา ต่างช่วยกันแผ้วถางปรับพื้นที่ป่าให้เป็นโรงเรียน เปิดสอนในฐานะโรงเรียนสำหรับนักเรียนอพยพตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ และตัดสินใจเปิดสอนอย่างจริงจัง เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ค. ๒๔๘๗ โดยมีภราดาเทโอฟาน เป็นอธิการผู้ก่อตั้ง มีอาคารเรือนไม้ ๒ ชั้น (เดิมเป็นโรงเรียนสแตลลา มารีส) เป็นอาคารเรียนแรก และมีมติให้แยกออกมาตั้งเป็นโรงเรียนเอกเทศจากโรงเรียนอัสสัมชัญ (บางรัก) ได้รับรองวิทยฐานะจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๓ เป็นโรงเรียนประจำแห่งแรกในศรีราชา

      ชีวิตนักเรียนประจำในสมัยแรกต้องอดทนต่อความยากลำบาก ไม่มีถนนหนทาง ไม่มีไฟฟ้า อาหารการกิน ของใช้ต่างๆ ก็ขาดแคลน ภารดาเทโอฟาน จึงทำไร่สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย (ในบริเวณที่ดินแปลง ๕๐๐ไร่ ที่เป็นไร่ตะไคร้เดิม) นำผลผลิตจากไร่ไปจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้มาจุนเจือเลี้ยงดูนักเรียน ซึ่งนอกจากการเรียนหนังสือ นักเรียนยังช่วยกันทำไร่สับปะรดด้วย จนกลายเป็นไร่สับปะรดเอซีที่มีชื่อเสียงโด่งดังกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

      ต่อมาในสมัยภราดามงฟอร์ด พ.ศ.๒๔๙๖-๒๕๐๓ ท่านเป็นอธิการนักสร้าง เพราะโรงเรียนยังอยู่ในช่วงที่เรียกว่าลงหลักปักฐาน ท่านได้สร้างอาคารเรียนมากทาย อาทิ พ.ศ.๒๔๙๗ สร้างตึกนฤมล เป็นตึกนอนของนักเรียนประจำ ตึกเซนต์คาเบรียล เป็นตึกเรียนสำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. ๒๔๙๘ สร้างตึกอำนวยการ เป็นที่พักและที่ทำงานของคณะภราดา และตึกมงฟอร์ด เป็นตึกเรียนสำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๙๙ สร้างตึกอัสสัมชัญเป็นตึกนอนของนักเรียนประจำ พ.ศ.๒๕๐๑ สร้างตึกเซนต์หลุยส์ เป็นห้องเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น เป็นอาทิ

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

• วันที่ ๙ พ.ย. ๒๕๑๙ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ปัจจุบัน) และ สมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดตึกวัชรสมโภช

• กิจกรรมยามว่างของนักเรียนประจำ คือ เข้าป่าล่าสัตว์ ร้องเพลง รำวง ต่อมามี การฉายหนัง ๑๖ มม. โรงภาพยนตร์ “เฉลิมกว้าง” เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ เมื่อวันที่ ๑๘ มี.ค. ๒๕๐๓ มาจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

คุณค่าของอดีต ทำให้เราสุขใจ อิ่มเอม เมื่อได้ย้อนนึกถึง 
ชมรมคนรักศรีราชา อยากเห็นคุณค่าของอดีต อยู่ในใจคนศรีราชา 
เราจึงพยายามเก็บเรื่องราวที่มีคุณค่าเหล่านี้ ไม่ให้เลือนหายไป 
เพื่อให้ลูกหลานของเราได้เห็น ได้สัมผัส ได้ภูมิใจกับรากเหง้าของตนเอง

 

๑๒ โรงเรียนในปฏิทินชุดนี้เป็นการเริ่มต้น รวบรวมข้อมูลโรงเรียนเก่าของศรีราชา

ทางชมรมฯ จะติดตามสืบค้น และ update ข้อมูลในโอกาสต่อไป

 

Visitors: 64,060